กสม. จัดโครงการสมัชชาเครือข่ายในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนานโยบายแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล .

07/08/2567 138

          เมื่อวันที่ 1 - 2 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดโครงการสมัชชาเครือข่ายในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนานโยบายแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ภายใต้ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2. กระทรวงยุติธรรม 3. กระทรวงศึกษาธิการ 4. กรมการปกครอง 5. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 6. กรมสอบสวนคดีพิเศษ 7. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 8. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 9. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ 10. มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล 11. องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 12. มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา 13. เครือข่ายการแก้ไขปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดพังงา ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ 14. มูลนิธิชุมชนไท 15. โครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ 16. มูลนิธิพัฒนานานาเผ่าไร้พรมแดน 17. มูลนิธิโพธิยาลัย และเครือข่ายอื่น ๆ เข้าร่วมงาน โดยมีเป้าหมายในการเร่งรัดและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยังมีปัญหาสถานะให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ตามข้อมติสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2 ในการนี้ นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช และนางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมรับฟังการนำเสนอสถานการณ์ปัจจุบัน ผลการขับเคลื่อน และการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคล ตามข้อมติสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2

          นอกจากนี้ ในเวทีดังกล่าวยังมีการสรุปข้อค้นพบปัญหา พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายในการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะร่วมกัน ดังนี้

          1. กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G (เด็กรหัส G) และกลุ่มพระภิกษุและสามเณรที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ ถึงแม้จะได้รับสิทธิทางการศึกษา แต่ยังคงมีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิด้านอื่น ๆ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล หรือการพัฒนาสถานะ

          2. กลุ่มเด็กเคลื่อนย้าย ยังไม่ได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนอยู่จริง และเป็นกลุ่มผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลกลุ่มใหม่ที่ท้าทายปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

          3. กลุ่มผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ การพัฒนาสถานะเป็นไปด้วยความยากลำบากและใช้ระยะเวลาเนิ่นนาน บางรายเสียชีวิตก่อนได้รับสัญชาติ แม้ข้อเท็จจริงบ่งชัดว่ามีคุณสมบัติตามกฎหมาย แต่ยังต้องรอคอยกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย

4. กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น โดยยังเป็นที่ถกเถียงว่าควรจะนิยามว่า ไทยพลัดถิ่น หรือถิ่นพลัดไทย ซึ่งเขาเป็นคนไทยโดยแท้ แต่กฎหมายสัญชาติไทยไม่ยอมรับ

          ด้วยปัญหาดังกล่าว ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วม สมัชชาสิทธิมนุษยชนในระดับพื้นที่ จึงประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในอันที่จะขจัดปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ดังนี้

          1. ปรับแก้กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้สถานะบุคคล เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ และให้ผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิทางการศึกษา สิทธิในสุขภาพ (การรักษาพยาบาล) ทั้งนี้ ภายใต้บังคับของกฎหมาย โดยภาคีเครือข่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนให้มีระบบติดตามการบริหารจัดการสถานะบุคคล ตลอดจนผลักดันกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

          2. นำบทเรียนการแก้ไขปัญหาบุคคลผู้มีปัญหาสิทธิและสถานะที่ประสบความสำเร็จทั้งในส่วนของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ตกสำรวจหรือถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียน รวมถึงคนไร้รัฐ ไปปรับใช้เพื่อเร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาและขจัดความไร้รัฐให้หมดไป (zero statelessness) ร่วมกับภาคีเครือข่าย

          3. เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กและเยาวชน และผู้สูงอายุ

          4. ส่งเสริมสนับสนุนการบูรณาการทำงานเพื่อจัดการปัญหาสถานะบุคลร่วมกัน ทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันนักวิชาการ และภาคีเครือข่าย ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน อาทิ จัดห้องทะเบียนเคลื่อนที่ คลินิกกฎหมายเคลื่อนที่ การตรวจ DNA เคลื่อนที่ เป็นต้น

          5. จัดทำแผนระดับชาติในการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กหรือผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางอื่น  ๆ) โดยขอให้ดำเนินการดังนี้ (1) ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น พร้อมกําหนดเวลา และกลไกติดตามการทำงานที่ชัดเจน (2) เชื่อมโยงการดำเนินการด้านสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน โดยให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ได้หลังจากที่ได้สถานะบุคคลตามที่รัฐกำหนด และ(3) บูรณาการความร่วมมือทั้งในพื้นที่และระหว่างพื้นที่ (กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายข้ามไปมา)

          โดยในตอนท้ายของงานสมัชชาดังกล่าวได้มีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น เพื่อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอันจะทำให้เจตนารมณ์ของสมัชชาสิทธิมนุษยชนในระดับพื้นที่ครั้งนี้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน