กสม. ศยามลประชุมหารือต่อร่างกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม 3 ฉบับ มุ่งหวังบูรณาการกฎหมายสู้วิกฤตสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน

07/08/2567 121

          เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 - 12.00 น. ที่ห้องประชุม 704 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายไพโรจน์  พลเพชร และนางสาวมณีรัตน์  มิตรปราสาท ที่ปรึกษา กสม. เข้าประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พศ. .... และร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ .... เพื่อร่วมกันหารือถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กฎหมายมีความครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งมีผู้แทนเข้าร่วมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง กรมควบคุมมลพิษ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้รับฟังความเห็นทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี  ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ  เอี่ยมจำรูญลาภ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

          ทั้งนี้ ที่ประชุมมุ่งเน้นการหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้ 1) การบูรณาการและความสอดคล้อง กฎหมายฉบับใหม่เข้ากับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... เพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายทั้งหมดทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนและขัดแย้งในการบังคับใช้ นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการนำหลักการที่มีอยู่ในกฎหมายอื่น  มาใช้ เช่น หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 2) ความชัดเจนและผลผูกพัน มีความจำเป็นในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและมีผลผูกพันในร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้มั่นใจว่าหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) บทบาทของภาคเอกชนและกลไกตลาด ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสำรวจมาตรการกลไกต่าง ๆ เช่น การกำหนดราคาคาร์บอนและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4) กลไกทางการเงิน ความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามร่างพระราชบัญญัติ ตลอดจนแหล่งที่มาของเงินทุนและประสิทธิภาพของกลไกทางการเงินต่าง ๆ เช่น การซื้อขายคาร์บอนเครดิต 5) การบังคับใช้และบทลงโทษ มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของบทลงโทษที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติ และหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

          นอกจากนี้ การพิสูจน์และเชื่อมโยงความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินคดี ซึ่งระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันอาจยังไม่พร้อมจัดการกับปัญหาใหม่อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจนำแนวคิดทางกฎหมายใหม่ ๆ มาใช้ เช่น แนวคิดเรื่อง “พฤติกรรมพึงประสงค์” 6) ความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ที่ประชุมเน้นย้ำความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมกันของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อกลุ่มต่าง ๆ และความจำเป็นในการปกป้องสิทธิของกลุ่มคนเปราะบาง

          ในการนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยรับฟังข้อมูล ความเห็นทางวิชาการและช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในการจัดการกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนากรอบกฎหมายในการจัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมได้ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน