กสม. ศยามล ให้สัมภาษณ์การศึกษาวิจัยกลไกสนับสนุนการรับเรื่องร้องเรียนและเหตุฉุกเฉินสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของ AICHR

09/08/2567 94

          เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 16.00 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ร่วมให้สัมภาษณ์กับ Ms. Leony Sondang Suryani นักวิจัยจากมูลนิธิมาตรฐานการรายงานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (FIHRRST) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับแนวทางในการจัดตั้งกลไกสนับสนุนการรับเรื่องร้องเรียนและเหตุฉุกเฉินสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ณ ห้องประชุม 703 สำนักงาน กสม.

          จากการสัมภาษณ์ ได้สะท้อนว่าสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มักถูกคุกคามร่างกายโดยตรง มาสู่การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่ 4 ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยได้จัดตั้งกลไกช่องทางพิเศษ (fast track) ตั้งแต่ในชั้นการรับเรื่องร้องเรียน โดยพิจารณาอย่างรวดเร็วในรูปแบบคณะทำงานและประสานการคุ้มครองโดยตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จังหวัด ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในกรณีสถานการณ์เร่งด่วน หรือในกรณีเด็ก เยาวชนและสตรีที่อาจเผชิญการคุกคามและความเสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองเป็นการเฉพาะ จะประสานไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ กสม. มีแนวทางการนิยามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยกว้าง โดยพิจารณาจากการเป็นผู้มีบทบาทปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ กสม. ยังได้จัดอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง และได้เสนอแนะมาตรการแนวทางและการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสำหรับการรับรองคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ การให้ความคุ้มครองตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในการพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และการเข้าถึงความช่วยเหลือจากจากกองทุนยุติธรรม เป็นต้น

          ในระดับภูมิภาค กสม. ร่วมสนับสนุนการทำงานของ AICHR อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นระดับชาติต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม ซึ่งการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนกลไกด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ AICHR อาจยังมีข้อท้าทายด้านงบประมาณ บุคลากร การสร้างเจตจำนงร่วม และการพัฒนากรอบกฎหมายที่บังคับใช้ในระดับภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ กสม. มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างกลไกการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไปในทุกระดับ

เลื่อนขึ้นด้านบน