กสม. วสันต์ร่วมเป็นวิทยากร “Digital Thinkers Forum #27 เวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่27” หัวข้อ ทบทวนการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากยุคแอนะล็อกถึงยุคปัญญาประดิษฐ์

09/08/2567 110

          วันที่ 8 สิงหาคม 2567 เวลา 09.45 น. ที่ห้อง Learning Studio 1 ชั้น 1 TIJ Common Ground สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ถนนแจ้งวัฒนะ นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากร “Digital Thinkers Forum #27 เวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่27 ” หัวข้อ ทบทวนการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากยุคแอนะล็อกถึงยุคปัญญาประดิษฐ์ จัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ ร้อยตำรวจเอกเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พลตำรวจตรีฐิตวัฒน์ สุริยฉาย รองจเรตำรวจ สำนักงานจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดร.ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ กรรมการบริหาร สถาบันเอส เคิร์ฟ อะคาเดมี่ (SCA) และ กรรมการสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย (TOSF) อาจารย์ ดร.สุจิตรา แก้วสีนวล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินรายการ โดย คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย)

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึง เทคโนโลยีในปัจจุบันที่ทำให้ข่าวลวง ข่าวปลอมมีการเข้าถึงได้รวดเร็ว เสมือนจริง และเผยแพร่ไปในวงกว้าง โดยแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ไลน์ Facebook เอ็กซ์ หรือแอปพลิเคชัน ต่าง ๆ มีข้อดี คือทำให้โลกกว้างขึ้น เด็กสามารถเรียนรู้ได้เร็วและเป็นสากลมากขึ้นจากการค้นหาในอินเตอร์เน็ต  แต่ก็มีข้อเสีย คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะรวบรวมและสำรวจข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้ ทั้งกิจวัตรประจำวัน ความสนใจ  เรื่องส่วนตัว ในโลกออนไลน์ ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย โดยใช้ข้อมูลเหล่านี้เข้าล่อลวงเด็ก นำไปสู่การข่มขู่ การเรียกร้องในทรัพย์สินเงินทอง และการล่วงละเมิดทางเพศ

          ทั้งนี้ ได้เสนอถึงแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเวที ดังนี้ 1) การสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันในข้อดีและข้อเสียของอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นทักษะที่ทุกคนควรจะมี 2) การขับเคลื่อนให้มีกฎหมายในการคุ้มครองเด็ก โดยการผลักดันกฎหมายป้องกันการที่เด็กจะตกเป็นเหยื่อ ซึ่งสามารถดำเนินคดีกับคนที่เตรียมการในการกระทำความผิดได้ ทั้งนี้ กฎหมายประเทศไทยในปัจจุบัน ต้องมีการถึงเนื้อตัวแล้ว หรือมีการกระทำเกิดขึ้น ถึงจะเรียกว่าความผิดสำเร็จ 3) แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ใช้งาน และสังคม 4) รัฐต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย 5) การสร้างความร่วมมือกันในทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ฝ่ายวิชาการ องค์กรหว่างประเทศ และฝ่ายต่าง ๆ ต้องช่วยกันเพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีลดความเสี่ยง และให้ AI เป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ

เลื่อนขึ้นด้านบน