กสม. ให้สัมภาษณ์รายการ "คุยกับ กสม." เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตปลาหมอคางดำ

09/08/2567 95

 

          เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์รายการ "คุยกับ กสม." เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตปลาหมอคางดำ ทางสถานีวิทยุรัฐสภา FM 87.5 MHz

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวเนื่องกับสิทธิชุมชน กรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดเพชรบุรี โดยรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ชุดที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2561 มีความเห็นว่า คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ได้มีการอนุญาตให้มีการนำเข้าปลาหมอสีคางดำตามระเบียบกรมประมงว่าด้วยการยื่นคำขอและการอนุญาตนำสัตว์น้ำบางชนิดเข้าในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องมีการเก็บครีบ และตัวอย่างของปลานำส่งให้แก่กรมประมง ภายหลังมีการวิจัยเสร็จเรียบร้อยจะต้องมีการแจ้งผลการวิจัยดังกล่าวให้แก่กรมประมงทราบ และต้องจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่หากการศึกษาวิจัยไม่ประสบผลสำเร็จจะต้องรายงานและเก็บซากปลาให้แก่กรมประมง

          ทั้งนี้ จากรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. พบว่า เมื่อมีการนำเข้าปลาหมอสีคางดำแล้ว บริษัทที่นำเข้าได้นำส่งตัวอย่างปลาหมอสีคางดำโดยวิธีการดองให้แก่กรมประมง โดยในสัปดาห์ที่ 3 ของการนำเข้าพบว่า ปลาหมอสีคางดำทยอยตายเกือบทั้งหมด มีการนำปลาที่เหลือไปทำลายด้วยสารคลอรีนและฝังกลบซากปลาด้วยปูนขาวแล้วแจ้งต่อกรมประมงด้วยวาจา โดยมิได้มีการทำรายงานเป็นทางการรวมทั้งมิได้รายงานผลการศึกษาวิจัย การทดลองและการตายของปลาให้แก่กรมประมงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งถือว่า มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอนุญาตนำสัตว์น้ำต่างถิ่น โดยในรายงายการตรวจสอบของ กสม. ได้มีการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่มีการระบาดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และอำเภอละแม จังหวัดชุมพร รวมทั้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นจำนวนเงิน 11,400,000 บาท เพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำให้รวดเร็ว ในปีเดียวกันกรมประมงได้จัดให้มีกลไกและแผนปฏิบัติการการควบคุมการนำเข้าปลาหมอสีคางดำ โดยมีการกำหนดห้ามนำเข้า ส่งออกและเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์ตามข้อเสนอแนะของ กสม. แต่เนื่องจากการจัดการปลาหมอคางดำ (ปลาหมอสีคางดำ) ของหน่วยงานไม่มีความต่อเนื่อง และมิได้นำองค์ความรู้จากชาวประมงในพื้นที่มาประกอบการดำเนินการ

          ปัจจุบันการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำกระจายไปสู่ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนล่าง เครือข่ายชาวประมงในจังหวัดสมุทรสงครามได้ร้องเรียนมาที่ กสม. ชุดปัจจุบันอีกครั้ง จึงได้มีการจัดประชุมเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ที่จังหวัดสมุทรสงครามร่วมกับเครือข่ายชาวประมงจาก 7 จังหวัดที่พบปลาหมอคางดำ ทั้งนี้ มีผลสรุปการดำเนินการดังนี้

          1. ระยะเร่งด่วน กสม. จะส่งหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่ติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่พบปลาหมอคางดำ โดยให้มีการจัดประชุมร่วมกับประมงจังหวัดให้มีการออกระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขออนุญาตผ่อนผันการใช้เครื่องมือรูปแบบทำลายล้าง เช่น อวนรุน หรือเครื่องมือบางประเภท เพื่อให้ชาวประมงได้ใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำ

          2. ระยะสั้น การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติตามข้อเรียกร้องของชาวประมงที่จะสามารถนำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ. 2562 เข้ามาดำเนินการ แต่เนื่องจากการระบาดของปลาหมอคางดำไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด ทั้งยังเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ แตกต่างจากกรณีประกาศพื้นที่ภัยพิบัติจากช้างป่าที่เป็นสัตว์ดั้งเดิมในพื้นที่ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขของการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ งบประมาณที่จะใช้ในการเยียวยาจึงต้องใช้งบประมาณจากกรมประมงเป็นหลัก ทั้งนี้กรมประมงได้มีการตอบรับข้อเสนอแนะของ กสม. ในการหารือกับกรมบัญชีกลางให้อยู่ในเงื่อนไขของประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ

          3. ระยะกลาง กรมประมงได้มีการจัดประชุมระดับจังหวัดในแต่ละจังหวัดที่ประสบปัญหา รวมทั้งหารือกับชาวประมงจังหวัดนั้นๆ ว่าจะมีวิธีการจัดการอย่างไร ทั้งนี้ในส่วนวิธีการจัดการ กสม. ยังไม่ได้รับรายงานจากกรมประมง ทราบเพียงมาตรการแบบภาพรวมคือ 5 มาตรการ 11 กิจกรรม เช่น มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ การปล่อยปลานักล่ากำจัดปลาหมอคางดำ การกระจายการรับซื้อปลาหมอคางดำ การเฝ้าระวังและจัดทำพื้นที่กันชน การสื่อสารกับชาวบ้านไม่ให้มีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ

          ทั้งนี้ข้อเสนอแนะกสมที่ส่งไปยังจังหวัดที่ประสบปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ หลายจังหวัดได้มีการนำข้อเสนอไปดำเนินการแล้ว โดยบางพื้นที่ชาวประมงสามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือประมงทำลายล้าง รวมทั้งกสม. ได้มีการสื่อสารไปยังกรมประมงและ กษ. ถึงมาตรการทั้ง 5 ข้อ 11 กิจกรรม ให้มีการเปิดเผยข้อมูลความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายห้ามมีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำแก่ชาวประมงในพื้นที่ทุกจังหวัดและสาธารณชนรับรู้ร่วมกัน และจะมีการติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน