เอกอัครราชทูตออสเตรเลียด้านสิทธิมนุษยชนเข้าเยี่ยมคารวะประธาน กสม.

16/10/2567 57

          เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลา 14.30 น. ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พรประไพ  กาญจนรินทร์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วสันต์  ภัยหลีกลี้ พร้อมด้วย นางรัตติกุล  จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำ กสม. นางสาวหรรษา  หอมหวล เลขาธิการ กสม. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ให้การต้อนรับเอกอัครราชทูตออสเตรเลียด้านสิทธิมนุษยชน Ms. Bronte Moules และคณะในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทย และขอเข้าเยี่ยมคารวะประธาน กสม. เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของประเทศไทยและออสเตรเลีย

          เอกอัครราชทูตออสเตรเลียด้านสิทธิมนุษยชน ได้แสดงความยินดีต่อประเทศไทยที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council – HRC) วาระปี พ.ศ. 2568 – 2570 ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นพ้องว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่รัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนในการแก้ไขและให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังต่อไป นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ อาทิ การขับเคลื่อนการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย การติดตามการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหาย เสรีภาพในการแสดงออก กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อเด็กและเยาวชน กฎหมายสมรสเท่าเทียม ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ กสม. ให้ความสำคัญในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2567 และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ของประเทศไทย เป็นต้น

          ทั้งนี้ ออสเตรเลียมีความยินดีและพร้อมสนับสนุนการทำงานของ กสม. เช่น การแลกเปลี่ยนการดำเนินการของ Australian National Contact Point for Responsible Business Conduct (AusNCP) ในมิติการรับเรื่องร้องเรียนตามแนวปฏิบัติของ OECD ในด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบสำหรับ ผู้ประกอบธุรกิจข้ามชาติ (OECD Guidelines for Multinational Enterprises on Responsible Business Conduct) ในการนี้ ประธาน กสม. เน้นย้ำว่า กสม. ต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการส่งเสริม สร้างความตระหนักรู้ และให้ความรู้ความเข้าใจในเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแก่ทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน

เลื่อนขึ้นด้านบน