กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 35/2567 กสม. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้ ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่ - แนะแก้กฎหมายกำหนดลักษณะต้องห้ามแห่งวิชาชีพทนายความและการเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาให้มีความชัดเจน หลังผู้พ้นโทษร้องเรียนไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นทนายความได้ - ห่วงผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขง แนะทบทวนแผนการรับซื้อไฟฟ้า

18/10/2567 14588

            วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์  ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 35/2567 โดยมี 3 วาระสำคัญดังนี้

            1. กสม. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้ ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งปิดศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะบางกุ้ง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ส่งผลให้เด็กลูกหลานแรงงานเมียนมากว่า 1,100 คน ต้องหลุดออกจากการเรียนกลางคัน รวมถึงศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวทุกแห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอีกหลายแห่งในพื้นที่อื่นทั่วประเทศต้องปิดตัวลงด้วยความวิตกและหวาดเกรงว่าจะมีการปิดศูนย์การเรียนรู้และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เด็กนับหมื่นคนได้รับผลกระทบ 

            เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว เมื่อเดือนกันยายน 2567 กสม. จึงได้จัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาสังคม รวมทั้งลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนหน้านั้น กสม. ได้หารือกับหน่วยต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาในศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวอย่างเป็นระบบและองค์รวมโดยคำนึงถึงมิติที่รอบด้าน และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อเด็ก และสังคมไทยโดยรวม 

            ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มีมติเห็นควรให้แจ้งข้อพิจารณาตลอดจนข้อเสนอแนะกรณีดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้ 

            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 ประกอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี และมีหน้าที่กำกับ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพโดยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอกชน สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 13 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 3 ข้อ 28 และข้อ 29 ที่ให้การรับรองสิทธิของเด็กทุกคนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ 

            จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพบว่า สถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ความขัดแย้งทางการเมือง และการบังคับเกณฑ์ทหาร ทำให้เด็กชาวเมียนมา โดยเฉพาะลูกหลานแรงงานเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศนับร้อยแห่ง แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับครู นักเรียน รวมถึงรายละเอียดการเรียนการสอน ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคง และความปลอดภัยของเด็ก โดยศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ได้ทำหน้าที่ดูแลเด็กให้เข้าถึงสิทธิด้านการศึกษา และช่วยดูแลเด็กไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด ล่อลวง ชักนำไปในทางที่ผิด หรือเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ในด้านหนึ่งจึงเป็นการแบ่งเบาภารกิจของรัฐในการจัดการศึกษา และคุ้มครองเด็กเหล่านี้ การปิดศูนย์การเรียนรู้จะเป็นการส่งต่อปัญหา กล่าวคือ เมื่อเด็กหลุดจากระบบการศึกษา มีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด เสี่ยงต่อปัญหายาเสพติด อาชญากรรม และการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน เศรษฐกิจของประเทศ และภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ 

            กสม. ยังพบปัญหาในเชิงกฎหมายว่า ศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวไม่สามารถจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนตามกฎหมายว่าด้วยศูนย์การเรียนได้ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติบางประการ เช่น ผู้ขอจัดการศึกษาต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย หลักสูตรการศึกษาต้องสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางของไทย และภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาไทย ขณะที่สถานศึกษาของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน ไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเด็กต่างด้าว เนื่องจากหลักสูตรการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามความต้องการของเด็กและผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กกลับไปเรียนต่อในประเทศเมียนมา รวมทั้งข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร เกณฑ์อายุของผู้เรียน และภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร 

            อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเด็ก โดยเฉพาะสิทธิด้านการศึกษาและเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็ก หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดตาก รวมถึงฝ่ายความมั่นคง และภาคประชาสังคม สนับสนุนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 จัดตั้งศูนย์ประสานงานการศึกษาเด็กต่างด้าว (Migrant Education Coordination Center: MECC) เพื่อขึ้นทะเบียนจดแจ้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว (Migrant Learning Center: MLC) โดยขณะนี้มี 63 ศูนย์ เด็กต่างด้าวกว่า 18,000 คน เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่หน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และสังคมโดยรวม

            ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าว กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขปัญหาศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติต่าง ๆ ให้รอบด้าน อาทิ ด้านความมั่นคง มนุษยธรรม สิทธิเด็ก สิทธิด้านการศึกษา มิติทางด้านแรงงาน เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และภาพลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ จะต้องมองปัญหาแบบองค์รวม บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ส่งต่อปัญหาอย่างเป็นลูกโซ่ จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ดังนี้ 

                ระยะเร่งด่วน ให้ทบทวนมาตรการการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวโดยให้สามารถจัดการเรียนการสอนไปพลางก่อนได้ ระหว่างการขึ้นทะเบียนจดแจ้งตามแนวทางที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ดำเนินการจดแจ้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว (MLC) ทั้งนี้ ให้มีการสอนภาษาไทยเพื่อการสื่อสารด้วย และดำเนินการให้เด็กในศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะบางกุ้ง และศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ปิดตัวลงไปแล้ว มีทางเลือกที่จะกลับไปเรียนในศูนย์การเรียนรู้เดิม หรือในโรงเรียนที่หน่วยงานในพื้นที่เตรียมการรองรับไว้ให้ โดยให้สำรวจและจัดการให้เด็กได้เรียนภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียน

            ระยะถัดไป จัดให้มีกฎเกณฑ์ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนจดแจ้ง การขึ้นทะเบียนครู และนักเรียน รวมถึงการสอนภาษาไทย และให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ในการดูแลเด็กทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และการคุ้มครองสวัสดิภาพให้มีความปลอดภัยและไม่ถูกแสวงประโยชน์ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐในการจัดการศึกษาและคุ้มครองเด็กกลุ่มดังกล่าว

 

            2. กสม. แนะแก้กฎหมายกำหนดลักษณะต้องห้ามแห่งวิชาชีพทนายความและการเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาให้มีความชัดเจน หลังผู้พ้นโทษร้องเรียนไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นทนายความได้

            นายภาณุวัฒน์  ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กสม. เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2567 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ผู้ร้องเคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก โดยในขณะต้องขังในเรือนจำผู้ร้องสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต แต่เมื่อพ้นโทษและสอบผ่านหลักสูตรอบรมที่สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความแล้ว ในขั้นตอนขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาก่อน ผู้ร้องจึงยื่นขอเป็นสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา แต่คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาพิจารณาว่าผู้ร้องเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมจะเป็นเนติบัณฑิตเนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ทำให้ผู้ร้องขาดคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ อันกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. ได้ศึกษาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย ประชุมรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งได้ศึกษาตัวอย่างกฎหมายในต่างประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลีและสหราชอาณาจักร แล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องดังกล่าวมีข้อพิจารณาสามส่วน สรุปได้ ดังนี้

            (1) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย ปัจจุบันผู้สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มีโอกาสประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย เช่น ทนายความ พนักงานอัยการ หรือข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ด้วยการเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา สำหรับผู้ที่จะประกอบวิชาชีพทนายความในช่วงการฝึกอบรม ผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพว่าความยังไม่ต้องเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา แต่ต้องมิใช่ผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และช่วงการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้รับประกาศนียบัตรแล้ว จะต้องเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และต้องไม่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพด้วยตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 35 

            (2) ขั้นตอนการสมัครเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาและการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความกับสภาทนายความ ปรากฏว่ามีการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติไว้แตกต่างกัน กล่าวคือ กรณียื่นขอสมัครเป็นสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภาโดยที่ยังไม่ได้อบรมวิชาว่าความกับสภาทนายความ คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในเบื้องต้นก่อนซึ่งจะทำให้ผู้สมัครทราบว่าตนเองมีสิทธิจะขึ้นทะเบียนเป็นเนติบัณฑิตหรือไม่ ส่วนกรณียื่นขอสมัครเป็นสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา ภายหลังจากผ่านการอบรมวิชาว่าความกับสภาทนายความ จนถึงขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา หากคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาพิจารณาเห็นว่าคุณสมบัติของผู้สมัครไม่เหมาะสมที่จะเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา ผู้นั้นก็จะหมดสิทธิในการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ 

            กสม. เห็นว่า เมื่อการอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความถูกนำมาเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพทนายความ บุคคลย่อมต้องมุ่งหมายว่าเมื่อผ่านการอบรมจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ ดังนั้น หากในกระบวนการรับสมัครผู้เข้ารับการอบรมวิชาว่าความมีการแจ้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ชัดแจ้งและครบถ้วนตรงตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยทนายความแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมย่อมมีสิทธิที่จะตรึกตรองเพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตอันเป็นพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ 

            (3) การกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาและผู้ขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ มีความเห็นเป็นสองประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง การใช้ถ้อยคำเพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นทนายความยังขาดความชัดเจน กล่าวคือ การกำหนดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาตามข้อบังคับของเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 มีการใช้ถ้อยคำที่ให้คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง แต่โทษตามคำพิพากษามีการกำหนดระวางโทษแตกต่างลดหลั่นกันตามความร้ายแรงแห่งโทษที่กระทำผิด ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ ไม่ว่าจะโดยกฎระเบียบของเนติบัณฑิตยสภาหรือสภาทนายความจึงต้องมีความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่จะใช้ดุลพินิจคาดหมายได้ว่าพฤติการณ์ หรือประวัติการกระทำผิดเพียงใดที่ไม่เหมาะสมในการประกอบวิชาชีพกฎหมายแต่ละประเภท 

            ประเด็นที่สอง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความพอสมควรแก่เหตุในการกำหนดคุณสมบัติของผู้เคยต้องโทษตามคำพิพากษาให้จำคุก เห็นว่า นอกจากการพิจารณาถึงรายละเอียดการกระทำ ความร้ายแรงแห่งข้อหา และสภาพของการกระทำความผิดว่ามีลักษณะที่ไม่เหมาะสมในการประกอบอาชีพแล้ว รัฐยังต้องพิจารณาว่า เมื่อบุคคลได้รับโทษตามคำพิพากษา และได้รับการพัฒนาฟื้นฟูพฤตินิสัยแล้ว ย่อมต้องไม่ถูกตีตราและกีดกันออกจากผู้คนในสังคมอย่างถาวร แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในพระราชบัญญัติทนายความฯ มาตรา 35 (6) ที่กำหนดเกี่ยวกับบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด และข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 แล้ว จะเห็นได้ว่า คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการตัดสิทธิในการประกอบวิชาชีพทนายความอย่างถาวร โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาในการยกเว้นให้คณะกรรมการใช้ดุลพินิจให้ผู้เคยต้องโทษจำคุกสามารถขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตว่าความ หรือสมัครเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้ กสม. เห็นว่าการที่บทบัญญัติไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจแก่ประชาชนจึงเป็นการขัดแย้งต่อนโยบายในการฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำความผิด ทั้งยังจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการกำหนดคุณสมบัติของการขึ้นทะเบียนเป็นเนติบัณฑิตหรือทนายความตามกฎหมายของประเทศสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐเกาหลีแล้วปรากฏว่าประเทศทั้งสองมีการกำหนดระยะเวลาภายหลังพ้นโทษไว้เป็นข้อยกเว้นในการรับบุคคลเป็นเนติบัณฑิตหรือทนายความไว้อย่างชัดแจ้ง 

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ สรุปได้ดังนี้ 

            (1) ให้สภาทนายความแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการฝึกอบรมวิชาว่าความ พ.ศ. 2529 ข้อ 5 ให้ตรงกับคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครอบรมวิชาว่าความให้มีความชัดเจนและครอบคลุมกรณีต่าง ๆ ให้ครบถ้วน โดยจัดทำคู่มือ หรือแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความให้ครอบคลุมทุกกรณี โดยเฉพาะกรณีผู้เคยต้องโทษจำคุก เช่น พิจารณาจากความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ในคดี ประเภทของความผิด ระยะเวลาภายหลังพ้นโทษ หรือการทำประโยชน์ให้สังคม เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงและรับทราบได้

            (2) ให้เนติบัณฑิตยสภาแก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวิสามัญที่เคยต้องโทษจำคุกให้มีหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจชัดเจน เช่น การกำหนดฐานความผิด อัตราโทษที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษ หรือประเภทของพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมอันมีสภาพร้ายแรงไม่สมควรแก่การเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาภายหลังพ้นโทษ โดยจะต้องมีการประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เช่นกัน

            (3) ให้กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความแก้ไขพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความให้มีความชัดเจนว่าพฤติการณ์แห่งคดีใดที่ไม่อาจขึ้นทะเบียนเป็นทนายความได้ และคดีลักษณะใดอาจได้รับการยกเว้นหากล่วงพ้นระยะเวลาหลังพ้นโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแล้ว โดยอาจนำระยะเวลาจากร่างกฎหมายว่าด้วยประวัติอาชญากรรม หรือแนวคิดของกฎหมายสาธารณรัฐเกาหลี เช่น ห้าปีนับแต่วันพ้นโทษจำคุก มากำหนด

 

            3. กสม. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ห่วงผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แนะทบทวนแผนการรับซื้อไฟฟ้าให้เหมาะสมและไม่สร้างภาระแก่ประชาชน

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน 4 โครงการ ซึ่งเกิดจากบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว ได้แก่ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เขื่อนภูงอย เขื่อนปากชม และเขื่อนบ้านกุ่ม โดยเขื่อนสานะคามอยู่ระหว่างกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามความตกลงแม่น้ำโขง เขื่อนภูงอยจะเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าต่อจากเขื่อนสานะคาม ส่วนเขื่อนบ้านกุ่มและเขื่อนปากชม อยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ทั้งนี้ ผู้ร้องได้ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องจากเห็นว่าทั้ง 4 โครงการดังกล่าว จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย 

            กสม. ได้ตรวจสอบและประมวลข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคม แล้ว เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ประธานกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งประเด็นข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศไทย ข้อพิจารณา และข้อเสนอแนะ สรุปได้ดังนี้ 

            ผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ 5 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างเขื่อนอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเท้อท่วมพื้นที่สำคัญและพื้นที่เกษตรกรรม น้ำล้นตลิ่ง การกัดเซาะตลิ่ง การอพยพของสัตว์น้ำ และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะน้ำเท้อจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำสาขาในประเทศไทยจะกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลและแม่น้ำสาขา ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากลำน้ำต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นไปได้ยากขึ้น (2) ด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ จากการศึกษาและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธานในช่วงปี 2557 – 2561 (ซึ่งรวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี) ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานทำให้การไหลของน้ำมีความเร็วและแรง ระดับน้ำมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ตลิ่งถูกกัดเซาะมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อปลาขนาดใหญ่จำนวนมากและปลาท้องถิ่นที่จะไม่สามารถวางไข่ได้

            (3) ด้านความมั่นคงชายแดนไทย - ลาว การสร้างเขื่อนอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึกทำให้มีผลต่อการเจรจาเขตแดนไทย – ลาว ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission: JBC) (4) ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของประชาชน ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมริมฝั่ง การประมง และการท่องเที่ยว หากพื้นที่ถูกน้ำท่วมจากน้ำเท้อ จะทำให้สูญเสียรายได้หลักในการดำรงชีพ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนที่ต้องใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค และ (5) ด้านความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ที่ผ่านมายังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแก่ประชาชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจากโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงที่เปิดดำเนินการแล้ว รวมถึงเขื่อนที่อยู่ระหว่างการศึกษา เช่น เขื่อนสานะคามที่อยู่ประชิดชายแดนไทยเพียง 2 กิโลเมตร 

            กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ขณะที่ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ปี 2538 ระบุว่า ประเทศสมาชิกที่ได้ตกลงร่วมกันที่จะใช้น้ำอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม จะต้องไม่กระทบอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเน้นความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยครอบคลุมการลงทุนระหว่างประเทศ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปรับใช้หลักการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)

            เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง และหลักสิทธิมนุษยชนข้างต้นแล้ว กสม. จึงมีข้อห่วงกังวลว่า แม้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธานจะสร้างและดำเนินการในเขตอธิปไตยของ สปป. ลาว แต่ที่ตั้งแต่ละโครงการอยู่ติดกับประเทศไทยมากและมีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อุทกวิทยาและชลศาสตร์ ประมง เศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะในจังหวัดเลยและจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งด้านความมั่นคงชายแดนและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยอาจต้องสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง (ประมาณ 100 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร) เนื่องจากโครงการอาจทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งมากขึ้น ส่วนภาคธุรกิจผู้ร่วมพัฒนาโครงการซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลสัญชาติไทยทั้ง 4 โครงการ ยังมีความรับผิดชอบที่จะต้องประกอบธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการ UNGPs ด้วย

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น สรุปได้ ดังนี้ 

            (1) ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบสะสมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การสร้างเขื่อนไซยะบุรีในทุกด้าน และแนวทางการป้องกันผลกระทบต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมของอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพต่างดินแดน และการเคารพในสิทธิและผลประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อประกอบการพิจารณาการดำเนินโครงการทั้งสี่ เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนไทยและอธิปไตยของไทย 

            (2) ให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผนการรับซื้อไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและไม่สร้างภาระแก่ประชาชน รวมทั้งพิจารณาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

            (3) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและผู้ลงทุนสัญชาติไทยให้ประกอบธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน โดยให้กระทรวงการคลังกำหนดให้การจัดทำบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องมีการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักการ UNGPs และตามที่กำหนดในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 และให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของผู้พัฒนาโครงการซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลสัญชาติไทยทั้ง 4 โครงการ สอดคล้องกับหลักการ UNGPs โดยจัดทำรายงานประเมินผลกระทบและความเสี่ยงของโครงการอย่างรอบด้านและมีมาตรการเยียวยาผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

18 ตุลาคม 2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน