คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ที่ ๑ /๒๕๖๑
กรณี การรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์
ตามที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch – HRW) เผยแพร่รายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ครั้งที่ ๒๘ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๘ (World Report 2018) และรายงาน “โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” (Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand’s Fishing Industry) ซึ่งนำเสนอสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในหลายประเด็น นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาแล้วเห็นว่า รายงานทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวได้ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยบางส่วนซึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม กสม. จึงจำเป็นต้องตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์นั้นเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๔) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ ดังต่อไปนี้
กสม. ขอชี้แจงว่า สถานะของ กสม.เป็นองค์กรอิสระตามหมวด ๑๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และยึดโยงกับหลักการปารีส (Paris Principles) ที่กำหนดรูปแบบของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ องค์ประกอบ และแนวทางการดำเนินงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีผลปรากฏเป็นจริง แม้ว่ามาตรา ๒๔๗ (๔) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งรัฐตราขึ้น จะบัญญัติให้ กสม.มีหน้าที่และอำนาจในการชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งน่าจะไม่ใช่หน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ดี มาตรา ๒๑๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้บัญญัติรับรององค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นซึ่งรวมถึง กสม. มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยที่การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ ประกอบกับในระหว่างการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม.ก็ได้เรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้ จนมีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔๔ บัญญัติให้ กสม.ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์นั้นก่อนการชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์ดังกล่าว แล้วจึงเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ดังนั้น กสม. ย่อมต้องชี้แจงหรือรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องซึ่งเป็นอยู่หรือเคยเกิดขึ้นในประเทศไทย มิได้เป็นการปกป้องหน่วยงานหรือองค์กรใด หรือเป็นกระบอกเสียงหรือกลไกประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐบาล รวมทั้งมิได้ขาดความเป็นอิสระหรือสูญเสียความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด
กสม. ตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า กสม. ได้มีข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... ไปยังรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๕๘ (รายงานผลการพิจารณาที่ ๒๙๓/๒๕๕๘) ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดโทษแก่ผู้บังคับบัญชาที่ทราบและจงใจเพิกเฉยต่อการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชา การกำหนดบทบาทของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจนในการสืบสวนสอบสวนคดีทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหาย การกำหนดนิยามที่ชัดเจนของการกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกำหนดบทลงโทษ อีกทั้งจากการตรวจสอบพบว่า กรณีการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... ของรัฐบาลนั้น เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๐ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงยุติธรรมไปดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์และการประเมินผลกระทบของกฎหมาย ตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ทั้งนี้ ในระหว่างการอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) แม้ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะใช้บังคับแก่กรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการซ้อมทรมานโดยตรงซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่รัฐบาลไทยได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๓๑/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยมีหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ติดตามช่วยเหลือเยียวยา และคุ้มครองสิทธิให้แก่ประชาชนในกรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ นอกจากนี้หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือกระทำการทรมาน ก็อาจใช้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาปรับใช้กับกรณีการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดที่เกี่ยวข้องได้ เนื่องจากผู้กระทำย่อมมีความผิดที่อยู่ในขอบข่ายฐานกระทำความผิดต่อเสรีภาพ การกระทำอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจ และหรือความผิดเกี่ยวกับการปกครองที่ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต รวมทั้งกรณีที่บุคคลอื่นกระทำโดยความรู้เห็นของเจ้าพนักงานด้วย แล้วแต่กรณี อย่างไรก็ตาม กสม. ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะได้กำหนดให้การกระทำทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญา โดยการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... อันเป็นกฎหมายเฉพาะออกมาใช้บังคับโดยเร็ว และสอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๖๑ ที่มีข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการให้กำหนดให้การกระทำทรมานเป็นความผิดอาญาภายในปี ๒๕๖๑
๓. กรณีกล่าวอ้างว่ายังไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสังหารและการทำให้พลเรือนบาดเจ็บในช่วงการประท้วงทางการเมืองในปี ๒๕๕๓ และการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน กสม. ตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า กสม. ได้มีรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงทางการเมืองเมื่อปี ๒๕๕๓ (รายงานผลการตรวจสอบที่ ๔๗๑/๒๕๕๖) โดยมีข้อเสนอแนะนโยบายไปยังคณะรัฐมนตรีในประเด็นเกี่ยวกับการใช้กฎหมายพิเศษ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ชุมนุม หรือบุคคลอื่นใด มาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น และกรณีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงทางการเมืองเมื่อปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ (รายงานผลการพิจารณาที่ ๖๓๓- ๖๕๒/๒๕๕๘) โดยมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกันกับกรณีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงทางการเมืองเมื่อปี ๒๕๕๓ และต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสังหารและการทำให้พลเรือนบาดเจ็บในช่วงการประท้วงทางการเมืองเมื่อปี ๒๕๕๓ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งมีการดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงทางการเมืองเมื่อปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ โดยมีการฟ้องคดีต่อศาลอาญาแล้ว ส่วนผลของคดีจะเป็นอย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลพินิจของศาล
๔. กรณีกล่าวอ้างว่ารัฐบาลไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารและการทรมานอย่างผิดกฎหมายโดยมีเหยื่อเป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหลายกรณี ทางการไทยได้จ่ายค่าตอบแทนให้กับเหยื่อหรือครอบครัวของเหยื่อ โดยแลกกับข้อตกลงที่จะไม่ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กสม. ได้ให้ความสำคัญและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในหลายกรณี โดยได้มีมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ให้พิจารณาตรวจสอบเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจในการเชิญตัวและควบคุมตัวจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ ให้เป็นไปตามหลักการแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (รายงานผลการตรวจสอบที่ ๑๒๕/๒๕๖๐ และที่ ๑๐๓๐/๒๕๖๐) ให้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่กับเจ้าหน้าที่และหน่วยบังคับบัญชาที่มิได้ควบคุมกำกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนด (รายงานผลการตรวจสอบที่ ๑๐๘๘/๒๕๖๐) เป็นต้น สำหรับกรณีการกล่าวอ้างว่าทางการไทยได้จ่ายค่าตอบแทนให้กับเหยื่อหรือครอบครัวของเหยื่อ โดยแลกกับข้อตกลงที่จะไม่ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ วงเงินการช่วยเหลือ และหน่วยงานรับผิดชอบไว้แล้ว ทั้งนี้ การจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าวไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไปแต่อย่างใด
๕. กรณีกล่าวอ้างว่ารัฐบาลไม่ได้สอบสวนทางอาญาต่อกรณีการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กสม. ตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า กสม. ได้มีรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การสังหารนอกกระบวนการกฎหมายระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (รายงานผลการตรวจสอบที่ ๔๑/๒๕๔๙) โดยมีมาตรการการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังรัฐบาล ให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาสอบสวนเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ได้ถูกนำไปใช้ดำเนินคดีในชั้นศาลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ต่อมาปรากฏว่าศาลยุติธรรมได้พิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ กสม.ได้เคยตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในทำนองเดียวกันอีกหลายคำร้อง (รายงานผลการพิจารณาที่ ๑๐๕๘/๒๕๕๘) และมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลในประเด็นคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหายและครอบครัวหรือญาติของผู้เสียหาย โดยให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ซึ่งรัฐบาลได้แจ้งว่าการดำเนินคดีอาญาทั่วไปกับผู้เกี่ยวข้อง หรือความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ สามารถดำเนินการได้หากมีพยานหลักฐานเพียงพอ สำหรับการพิจารณาให้รื้อฟื้นการสอบสวนคดีที่เกิดขึ้นในคดีที่พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนคดีเสนอให้งดการสอบสวน หากมีพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน
๖. กรณีกล่าวอ้างว่าหน่วยงานของรัฐยังใช้วิธีการบังคับให้ผู้ใช้ยาเสพติดเข้ารับการบำบัดแบบทหาร กสม. ตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดวิธีการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดของประเทศไทย ไว้ ๓ รูปแบบ ได้แก่ (๑) ระบบสมัครใจ (Voluntary System) คือระบบที่ผู้ติดยาเสพติดขอเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนดด้วยความสมัครใจ (๒) ระบบบังคับบำบัด (Compulsory System) คือ ระบบที่ผู้ติดยาเสพติดถูกจับกุมและพิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดในสถานที่สำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และ (๓) ระบบต้องโทษ (Correction System) คือ ระบบที่ผู้ติดยาเสพติดได้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดและถูกคุมขัง ซึ่งต้องได้รับการรักษาพยาบาลในสถานบำบัดรักษายาเสพติดในระบบต้องโทษ ทั้งนี้ สถานที่สำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบางแห่งอาจกำหนดไว้ในเขตทหาร โดยที่ใช้วิธีการบำบัดในหลายรูปแบบ เช่น ชุมชนบำบัด แบบเข้มข้นทางสายใหม่ แบบจิตสังคมบำบัด แบบวิถีเชิงพุทธ เป็นต้น กรณีไม่ใช่เป็นการใช้วิธีการบำบัดแบบทหารแต่อย่างใด
๗. กรณีกล่าวอ้างว่ารัฐบาลประกาศให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับชาติ แต่ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะในภาคประมงเป็นไปอย่างจำกัด กสม. ตรวจสอบแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนแนวนโยบายและกฎหมาย เมื่อปี ๒๕๕๘ รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์และนโยบายเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ ในปีเดียวกัน กสม. ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนและจัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนประเด็นแรงงานในอุตสาหกรรมประมงโดยมีข้อเสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายต่อรัฐบาล (รายงานการผลพิจารณาที่ ๕๘๑-๕๘๓/๒๕๕๘) ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในเรื่องแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๙-๒๕๖๐ มีการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองและป้องกันการค้ามนุษย์ที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ และพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายลำดับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะในภาคประมงทะเล มาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน ล่าสุด กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๑ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๑) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าจ้างเพื่อคุ้มครองแรงงาน ให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และกำหนดให้นายจ้างซึ่งทำการประมงนอกน่านน้ำไทยจัดให้มีอุปกรณ์หรือระบบการสื่อสารรับส่งข้อความผ่านดาวเทียมเพื่อให้ลูกจ้างสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ สามี ภริยา หรือญาติได้ตลอดเวลา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้แรงงานเป็นเรื่องที่ยังอาจเกิดขึ้นเป็นรายกรณี โดยหากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำดังกล่าว กสม.จะพิจารณาตรวจสอบเพื่อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๘ เมษายน ๒๕๖๑