สาร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ประจำปี 2565
“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” ถ้อยคำดังกล่าวปรากฏในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งบัญญัติคุ้มครอง “สิทธิมนุษยชน” ของปวงชนชาวไทยทุกคนอย่างเสมอกัน
หลักการดังกล่าวสอดรับกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 1 ที่ระบุว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตน มีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ” เอกสารนี้ถือเป็นเอกสารสำคัญของโลกซึ่งองค์การสหประชาชาติมีมติรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ. 1948) อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายร่วมกันของนานาชาติที่ต้องการสร้างความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และนำสังคมสู่ความสงบสุขด้วยการเคารพในสิทธิของกันและกัน
วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันสำคัญสำหรับคนไทยคือ “วันรัฐธรรมนูญ” แล้ว จึงเป็นวันที่สำคัญยิ่งสำหรับคนทั่วโลกในฐานะ “วันสิทธิมนุษยชน” ทั้งสองวันนี้ล้วนมีความสำคัญสอดคล้องกันด้วยเป็นวันที่หลักการสิทธิมนุษยชนได้รับการบัญญัติรับรองขึ้นอย่างเป็นทางการ
ในปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบในมิติต่าง ๆ ต่อกลุ่มเปราะบาง ความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองที่หลายครั้งนำไปสู่เหตุขัดแย้งรุนแรง ความสะดวกของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เอื้อให้เกิดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังหรือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์อันมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้โดยง่าย และความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ยังคงอยู่และเป็นเหตุให้ผู้คนมากมายยังถูกเลือกปฏิบัติและไม่ได้รับความยุติธรรม ล้วนเป็นประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ห่วงกังวล
ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการคุ้มครอง ส่งเสริม เฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว กสม. มีนโยบายขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ โดยเน้นคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิสถานะบุคคล การขจัดการเลือกปฏิบัติ และการยุติความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกคน คือสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศประสบผลได้เป็นรูปธรรม
ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ประจำปี 2565 นี้ กสม. ขอเชิญชวนทุกคนในสังคมร่วมสร้างความตระหนักในหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้แนวคิดการรณรงค์สากลของปีนี้ คือ “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” (Dignity, Freedom, and Justice for All) โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงหน้าที่ที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ เป็นจริงและเข้าถึงได้สำหรับคนทุกคน และขอให้สังคมตระหนักว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้น ขอให้เราเคารพในสิทธิมนุษยชนของกันและกันบนเส้นทางแห่งความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ของสังคมพหุวัฒนธรรมนี้
พรประไพ กาญจนรินทร์
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” ถ้อยคำดังกล่าวปรากฏในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งบัญญัติคุ้มครอง “สิทธิมนุษยชน” ของปวงชนชาวไทยทุกคนอย่างเสมอกัน
หลักการดังกล่าวสอดรับกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 1 ที่ระบุว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตน มีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ” เอกสารนี้ถือเป็นเอกสารสำคัญของโลกซึ่งองค์การสหประชาชาติมีมติรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ. 1948) อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายร่วมกันของนานาชาติที่ต้องการสร้างความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และนำสังคมสู่ความสงบสุขด้วยการเคารพในสิทธิของกันและกัน
วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันสำคัญสำหรับคนไทยคือ “วันรัฐธรรมนูญ” แล้ว จึงเป็นวันที่สำคัญยิ่งสำหรับคนทั่วโลกในฐานะ “วันสิทธิมนุษยชน” ทั้งสองวันนี้ล้วนมีความสำคัญสอดคล้องกันด้วยเป็นวันที่หลักการสิทธิมนุษยชนได้รับการบัญญัติรับรองขึ้นอย่างเป็นทางการ
ในปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบในมิติต่าง ๆ ต่อกลุ่มเปราะบาง ความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองที่หลายครั้งนำไปสู่เหตุขัดแย้งรุนแรง ความสะดวกของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เอื้อให้เกิดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังหรือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์อันมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้โดยง่าย และความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ยังคงอยู่และเป็นเหตุให้ผู้คนมากมายยังถูกเลือกปฏิบัติและไม่ได้รับความยุติธรรม ล้วนเป็นประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ห่วงกังวล
ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการคุ้มครอง ส่งเสริม เฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว กสม. มีนโยบายขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ โดยเน้นคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิสถานะบุคคล การขจัดการเลือกปฏิบัติ และการยุติความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกคน คือสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศประสบผลได้เป็นรูปธรรม
ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ประจำปี 2565 นี้ กสม. ขอเชิญชวนทุกคนในสังคมร่วมสร้างความตระหนักในหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้แนวคิดการรณรงค์สากลของปีนี้ คือ “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” (Dignity, Freedom, and Justice for All) โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงหน้าที่ที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ เป็นจริงและเข้าถึงได้สำหรับคนทุกคน และขอให้สังคมตระหนักว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้น ขอให้เราเคารพในสิทธิมนุษยชนของกันและกันบนเส้นทางแห่งความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ของสังคมพหุวัฒนธรรมนี้
พรประไพ กาญจนรินทร์
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ