กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 40/2565 กสม. ตรวจสอบกรณีคนจนเมืองในชุมชนแออัด จ.ภูเก็ต 20 แห่ง เข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

10/11/2022 142
 
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์
ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 40/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
 
1668056354935-(1).jpg
 
                   1. กสม. ตรวจสอบกรณีคนจนเมืองในชุมชนแออัด จ.ภูเก็ต 20 แห่ง เข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เหตุอาศัยอยู่ในพื้นที่ของรัฐ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข ประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน
                   นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2564 – 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 5 คำร้อง เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนจนเมือง
ในชุมชนแออัด 20 แห่งของจังหวัดภูเก็ต ครอบคลุมประชาชนมากกว่า 2,400 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อาศัยและทำกินอยู่บนที่ดินของรัฐ ทำให้มีคู่กรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ และต้องประสบปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หลายชุมชนถูกไล่รื้อที่พักอาศัย และไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน สะพานฯลฯ ได้ หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงไฟฟ้าและประปาในอัตราสูงกว่าคนทั่วไปเนื่องด้วยเป็นผู้อาศัยในที่ดินของรัฐชั่วคราว คำร้องทั้งห้านี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
                   กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติรับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ
ให้ดำเนินการใด ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนได้ รวมทั้งการจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร นอกจากนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ยังได้รับรองสิทธิของทุกคนในเรื่องการมีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐภาคี
ที่จะต้องจัดหาหรือให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน ให้มีสิทธิเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยโดยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในการที่จะไม่ถูกขับไล่รื้อถอน ขู่เข็ญหรือคุกคามใด ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาสจะต้องได้รับและมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรสำหรับที่อยู่อาศัยที่เพียงพออย่างยั่งยืน
                   จากการตรวจสอบคำร้องหลายกรณีในประเด็นการจัดระบบสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชน
ในชุมชน เห็นว่า ประชาชนในชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ โดยมีสาเหตุมาจากข้อจำกัดในเรื่องที่ดิน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ให้สามารถอยู่อาศัยได้เสียก่อน อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่าประชาชนจะมีสิทธิขอใช้สาธารณูปโภคจากรัฐหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีการขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา
ด้วยเหตุนี้ การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนจึงยังคง
ไม่เกิดขึ้นจนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาอนุญาตหรือจัดการปัญหาข้อพิพาทด้านที่ดินให้เป็นที่ยุติ ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ในแต่ละประเภทที่ดิน อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
                   นอกจากนี้ แม้จากการตรวจสอบจะพบว่า หลายชุมชนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)
ซึ่งคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดภูเก็ต (คทช. จังหวัดภูเก็ต) ได้มีมติอนุญาตให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แต่ในเรื่องของการจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็ยังคงปรากฏข้อจำกัดที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต ยังคงยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่หวงห้ามของทางราชการอันเกิดจากการเข้าครอบครองโดยไม่มีเอกสารรับรอง
ตามกฎหมาย จึงไม่สามารถบริการจำหน่ายไฟฟ้าให้ได้ตามระเบียบ ประกอบกับเหตุผลเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนหรือป่าไม้ของทางราชการ ทำให้ประชาชนยังคงไม่มีสิทธิ
ขอใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต ส่วนกรณีของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต
แม้จะปรากฏว่าสามารถดำเนินการจัดให้มีบริการน้ำประปาได้ แต่ตามข้อบังคับของการประปาส่วนภูมิภาคได้กำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าประกันการใช้น้ำในลักษณะที่แตกต่างกันจากประชาชนผู้ขอใช้น้ำทั่วไป กล่าวคือ ประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินซึ่งมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแลและมีทะเบียนบ้านชั่วคราว ต้องจ่าย
ค่าประกันการใช้น้ำในประเภทการใช้น้ำชั่วคราวในอัตราที่สูงกว่าปกติหลายเท่า ประชาชนในชุมชนแออัดของจังหวัดภูเก็ตตามกรณีที่ร้องเรียนมายัง กสม. นี้จึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิในที่อยู่อาศัย รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่เพียงพอที่จะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งยังถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภคจากการที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินโดยการได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ เป็นเงื่อนไขในการเข้าถึงสาธารณูปโภค จึงเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน
                   อย่างไรก็ดี แม้ว่าบางคำร้องอันเกี่ยวเนื่องกับการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนจนเมืองในจังหวัดภูเก็ต จะอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาหรือมีการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่แล้ว หรือเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องคดีอยู่ในศาลหรือศาลมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สรุปได้ดังนี้
                   1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                   ให้จังหวัดภูเก็ตประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคของประชาชนในชุมชนที่มีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้วตามโครงการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พร้อมกันนี้ ให้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนในชุมชนที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทหรือ
การจัดสรรที่ดินด้วย และให้คณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนภูมิภาค พิจารณาแก้ไขปรับปรุงระเบียบข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าประกันการใช้น้ำ
จากประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินซึ่งมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแลและมีทะเบียนบ้านชั่วคราว โดยให้เรียกเก็บในอัตราเดียวกับผู้ขอใช้น้ำทั่วไป เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นภาระแก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่ที่ได้รับแจ้งรายงานฉบับนี้
                   2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
                   ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดแนวนโยบายในภาพรวมโดยแยกระหว่างสิทธิในการจัดการที่ดินและสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เพื่อเป็นการอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจสามารถจัดทำระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น ให้แก่ประชาชนในชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของรัฐได้ ในระหว่างการจัดสรรที่ดินหรือแก้ไขปัญหาข้อพิพาท โดยให้เร่งรัดการดำเนินงานในภาพรวมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ในการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติรับทราบแนวทางและมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหา
                   ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เร่งรัดการดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินหรือที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในภาพรวมทั้งประเทศโดยเร็วและให้ชี้แจงหรือรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทราบเป็นระยะ และให้กรมทรัพยากร
ทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดภูเก็ต (คทช. จังหวัดภูเก็ต) พิจารณาคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชนที่มีกรณีพิพาทบางแห่ง โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน และร่วมกันดำเนินการจัดหาพื้นที่แห่งใหม่สำหรับจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนชุมชนในพื้นที่พิพาท
                   ทั้งนี้ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พิจารณาเกี่ยวกับนโยบายขอคืนพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้ใช้ประโยชน์ของชุมชนบางแห่งตามคำร้อง โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนด้วย
 
10-11-65-2.jpg
 
                   2. กสม. ชี้โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้รัฐสภา ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน แนะ กทม. เปิดเผยข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ของ                               กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีการสำรวจ ศึกษา ออกแบบ และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามลำดับขั้นตอนมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยบริเวณชุมชนกำแพงเพชร 5 แขวงพญาไท เขตพญาไท ประมาณ 15 - 20 ครัวเรือน เนื่องจากต้องถูกเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การผังเมือง งบประมาณของแผ่นดิน และความปลอดภัยของอาคารรัฐสภา อีกทั้งการดำเนินโครงการ
ไม่จัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอย่างเพียงพอ ประชาชนยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดโครงการ และเมื่อประชาชนขอทราบข้อมูล กลับได้รับการปฏิเสธว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ไม่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงขอให้ตรวจสอบ
                   กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง หน่วยงานผู้ถูกร้อง หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน
ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 57 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่มีการเริ่มสำรวจและออกแบบโครงการได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลในการได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด
ที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยรัฐจะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ได้ให้การรับรองสิทธิบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนได้ โดยมาตรา 58 รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชน
ที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินโครงการใด ๆ ของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนด้วย
                   จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า โครงการมีระยะทาง 5.9 กิโลเมตร ตั้งแต่ถนนเลียบทางรถไฟ
สายใต้ ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย มีทางยกระดับต่อไปบนถนนทหาร ข้ามแยกสะพานแดง แยกเทอดดำริห์ ข้ามทางรถไฟ เลี้ยวซ้ายตามถนนกำแพงเพชร 5 ผ่านแยกสะพานดำ
ตามแนวถนนกำแพงเพชร ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพหลโยธิน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการเดิม
ถูกกำหนดเพื่อรองรับรัฐสภาแห่งใหม่และศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แต่ปัจจุบันที่ดินบริเวณที่จะพัฒนาเป็นศูนย์คมนาคมพหลโยธินได้ถูกพัฒนาเป็นที่ตั้งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟแล้ว ประกอบกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อเท็จจริงสรุปว่า นับแต่ กทม. เริ่มดำเนินโครงการได้มีประเด็นคัดค้านและข้อโต้แย้งจากหลายภาคส่วน รวมทั้งรัฐสภาได้มีหนังสือคัดค้านมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 โดยเห็นว่าโครงการจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยบริเวณอาคารรัฐสภาจากการออกแบบแนวสะพานที่คร่อมถนนบริเวณด้านหน้าตัวอาคารในระดับสูงเทียบเท่าชั้น 3 ของอาคาร ซึ่งมีความเสี่ยงต่อ
การก่อวินาศกรรมได้โดยง่าย อีกทั้งโครงการอาจส่งผลกระทบด้านอื่น ๆ อีกหลายประการ จึงอาจไม่มี
ความเหมาะสมและไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน
สำหรับประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น แม้ที่ผ่านมาโครงการได้มีการจัดทำรายงาน
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือรายงาน EIA เมื่อช่วงปี 2553 - 2558 โดยจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว แต่การดำเนินการดังกล่าวผ่านมาแล้วเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้สภาพการจราจรและโครงข่ายคมนาคมขนส่งเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับรายงาน EIA ดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ด้วยเหตุผลเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม สอดคล้องกับผลการลงพื้นที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่พบว่า
ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ชุมชนกำแพงเพชร 5 และในพื้นที่ฝั่งธนบุรีหลายรายไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารหรือเข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินโครงการนี้ จึงถือว่ายังขาดการประชาสัมพันธ์และการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในชั้นต้นจนถึงชั้นการโต้แย้งทบทวนความเหมาะสมของโครงการ ทั้งประชาชนยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมที่กฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีให้การรับรองไว้ จึงเป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนประเด็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏว่า กทม. มีกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดแต่อย่างใด
                   ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่
7 พฤศจิกายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อ กทม. สรุปได้ดังนี้
                   1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ให้ กทม. จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินโครงการใหม่ โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปได้รับรู้รับทราบและมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ สามารถแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ แจ้งข้อห่วงกังวล ผลกระทบและความเดือดร้อนหรือเสียหายได้อย่างมีอิสระและครบถ้วนตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเมื่อได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วปรากฏว่าการดำเนินโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าที่เผยแพร่ข้อมูลไว้ ให้พิจารณาทบทวนถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการดำเนินโครงการ
หากจำเป็นต้องดำเนินโครงการต่อไป ต้องจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและได้สัดส่วนกับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งต้องกำหนดให้มีมาตรการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบในการปฏิบัติงาน
ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะเปิดใช้แนวเส้นทางโครงการอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานฉบับนี้
                   2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้ กทม. ให้ข้อมูลและอธิบายขั้นตอนการใช้สิทธิต่าง ๆ โดยละเอียดเป็นรายบุคคลแก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน พร้อมทั้งให้คำแนะนำอย่างเพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจ อาทิ กระบวนการอุทธรณ์ค่าทดแทนตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถูกเวนคืนสามารถหยิบยกราคาประเมินที่ดินและอสังหาริมทรัพย์โดยวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับลักษณะทรัพย์สินที่ซื้อขายกันจริงตามท้องตลาด เพื่อพิจารณาชดเชยเยียวยาค่าทดแทนที่เป็นธรรม และให้คิดคำนวณเงิน
ค่าทดแทนที่เป็นธรรมและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ถูกเวนคืนให้ครอบคลุมถึงมาตรฐาน
ที่เพียงพอต่อการครองชีพในปัจจุบัน รวมทั้งวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยคุณค่าหรือประโยชน์ที่ได้รับนั้นต้องไม่น้อยกว่าเดิมก่อนที่จะถูกเวนคืนด้วย
 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
10 พฤศจิกายน 2565
10-11-65-Press-release-แถลงข่าว-40-2565_.pdf
 
 

 

10/11/2565
Related Document Files
Scroll to top