กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 39/2565 กสม. เสนอกระทรวงสาธารณสุขกำชับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน งดเว้นการตรวจหาเชื้อเอชไอวีบุคลากรก่อนรับเข้าทำงาน

03/11/2022 51
 
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 39/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
 
 
031101.jpg

           1. กสม. เสนอกระทรวงสาธารณสุขกำชับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนงดเว้นการตรวจหาเชื้อเอชไอวีบุคลากรก่อนรับเข้าทำงานเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ
            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ แจ้งว่ามีผู้เสียหายรายหนึ่งได้สมัครทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งประกอบกิจการสถานพยาบาลในตำแหน่งพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยในประกาศรับสมัครงานไม่ได้ระบุห้ามรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus :HIV) เข้าปฏิบัติงาน แต่เมื่อผู้เสียหายทดลองปฏิบัติงานในแผนกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยประมาณครึ่งวันและเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้จึงให้เขียนใบสมัครและกรอกเอกสารยินยอมให้ตรวจสุขภาพซึ่งผู้เสียหายทราบจากเจ้าหน้าที่ระหว่างการเจาะเลือดว่าจะมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วย ซึ่งในการตรวจสุขภาพ แพทย์ได้ระบุในหนังสือรายงานผลการตรวจว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทผู้ถูกร้องได้ปฏิเสธการรับผู้เสียหายเข้าปฏิบัติงานโดยให้เหตุผลว่าบริษัทผู้ถูกร้องไม่มีนโยบายรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าปฏิบัติงาน เนื่องจากต้องใกล้ชิดผู้ป่วย และ
เมื่อผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่สถานพยาบาลบริษัทผู้ถูกร้องอีกครั้ง และแพทย์ยังคงระบุความเห็นว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้ตามความเห็นของคณะกรรมการบริหารและพัฒนาบุคลากร ผู้เสียหายจึงนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอีกครั้งเพื่อขอให้ทบทวนการพิจารณา แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด และเห็นว่าการกระทำของบริษัทผู้ถูกร้องเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจึงมีหนังสือขอให้มูลนิธิฯ ร้องเรียนแทนต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบ
            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระเบียบ ข้อกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้การรับรองและคุ้มครองว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง สภาพทางกายหรือสุขภาพหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วย
สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) รับรองว่าทุกคนมีสิทธิในการทำงาน รวมทั้งสิทธิ
ในการหาเลี้ยงชีพโดยงานที่ตนเลือกหรือรับอย่างเสรี
            จากการตรวจสอบรับฟังได้ว่าบริษัทผู้ถูกร้องได้ให้ผู้เสียหายตรวจหาเชื้อเอชไอวีจริง ซึ่งถือว่าบริษัทไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2552 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 และถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ แต่ภายหลังคณะกรรมการบริหารของบริษัทได้รับทราบปัญหาและเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้วจึงได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและแบบฟอร์มที่มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงานทุกกรณี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าบริษัทผู้ถูกร้องได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้สมัครงานและยกเลิกแบบฟอร์มที่มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยแล้ว กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว กสม. จึงเห็นควรยุติเรื่อง
            อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ยังคงมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงานหรือนำเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีมาประกอบการพิจารณาตำแหน่งงาน
ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลของกรมควบคุมโรคและสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวีจะเห็นว่าบุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ไม่สามารถส่งต่อเชื้อต่อบุคคลอื่นหากขาดปัจจัยเรื่องปริมาณและคุณภาพของเชื้อ รวมช่องทางการติดต่อซึ่งเชื้อจะต้องส่งผ่านจากผู้ติดเชื้อไปยังอีกคนหนึ่งโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือดเท่านั้น เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และจากแม่สู่ลูก อีกทั้งการปฏิบัติงานในสถานพยาบาลจะต้องปฏิบัติตามหลักการ Universal Precaution หรือการระมัดระวังป้องกันตนเองของบุคลากรทุกคนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อด้วยอยู่แล้ว เช่น การใช้ถุงมือ ผ้าปิดปากและจมูก เสื้อคลุม เครื่องป้องกันตา และการทำความสะอาดมือ รวมทั้งการป้องกัน การบาดเจ็บจากการถูกเข็มตำทั้งในผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
            ดังนั้น การที่สถานพยาบาลหลายแห่งยังให้ผู้สมัครงานต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีแสดงให้เห็นว่า
ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมา กสม.
ได้เคยมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อบุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีหลายกรณีแล้ว ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อเน้นย้ำให้มีการแก้ไขปัญหาในภาพรวมด้วย
อีกทางหนึ่ง โดยเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานมีหนังสือขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศปฏิบัติงานให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ และประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการโดยเคร่งครัด รวมถึงปรับปรุงแบบฟอร์มการตรวจร่างกายในผู้สมัครงานให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันและแจ้งเวียนเพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ต่อไป
 
 
031102.jpg
           

 

           2. กสม. ชี้กรณีสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 จับกุมดำเนินคดีราษฎรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำกินในพื้นที่ม่อนแจ่ม โดยยังไม่สำรวจสิทธิการครอบครองที่ดิน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชุมชนม่อนแจ่ม ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ของตน อาศัยอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ก่อน
ปี 2447 โดยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อนการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน และ
ก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ โดยประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักและประกอบอาชีพเสริมโดยการสร้างที่พักรองรับการท่องเที่ยวตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล แต่ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ในฐานะผู้ถูกร้อง
ได้เข้าจับกุมดำเนินคดี ทำลายพืชผลอาสินของชาวบ้าน และห้ามชาวบ้านเข้าพื้นที่ประกอบอาชีพ
ด้วยข้อพิพาทเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน โดยราษฎรผู้ร้องเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตนไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 เรื่อง ผลการเจรจาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
ของเกษตรกรภาคเหนือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชั่วคราวก่อนการพิสูจน์สิทธิในที่ทำกินและได้ข้อยุติ
            กสม. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย รวมทั้งพิจารณาหลักกฎหมาย และ
หลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก และการรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนเป็นหน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 (2) โดยรัฐมีหน้าที่ต้องบริหารจัดการให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และจัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
            ผลการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงสรุปว่า ชุมชนม่อนแจ่มมีการตั้งถิ่นฐานและอาศัยในพื้นที่
มาก่อนการประกาศเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยปรากฏหลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศในปี 2498
ที่พบร่องรอยการใช้ประโยชน์จำนวน 568 แปลง เนื้อที่ 1,005–1–73 ไร่ ประกอบกับเมื่อปี 2505 ได้มีการตั้งโรงเรียนชายแดนสงเคราะห์ที่ 14 ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริมตามมาเมื่อปี 2507 ส่วนการทำประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ม่อนแจ่มเดิมคือการปลูกฝิ่น แต่ต่อมาได้หันมาปลูกพืชอื่นแทนตามแนวพระราชดำริในโครงการหลวงหนองหอย
ซึ่งเกษตรกรจำนวน 600 ราย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ และเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 โครงการหลวงฯ ได้ดำเนินการสำรวจแปลงที่ดินของสมาชิกเกษตรกรที่ทำกินในพื้นที่จำนวน 800 แปลง เพื่อการยื่นขอใบรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practices: GAP) อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่าการสำรวจดังกล่าวไม่ถือเป็นการสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดินของราษฎรทั้งหมดทุกแปลงในพื้นที่ม่อนแจ่มตามที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 กล่าวอ้าง และไม่สามารถอ้างได้ว่ามีการสำรวจการครอบครองแล้ว
            สำหรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวนั้น เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง
การท่องเที่ยวของจังหวัดภาคเหนือตอนบน ม่อนแจ่มจึงถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ที่ให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิตการผลิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ ราษฎรชาวม่อนแจ่มจึงประกอบกิจการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นรายได้เสริม เนื่องจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว
ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของครอบครัว โดยมีผู้ประกอบกิจการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวน 122 ราย
            ต่อมาในช่วงปี 2562 ถึงปี 2563 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ได้ดำเนินคดีผู้ประกอบการจำนวน 36 ราย จากปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิในการครอบครอง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า 32 รายที่ถูกจับกุมดำเนินคดี เป็นราษฎรที่ทำประโยชน์ในพื้นที่ตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยปรากฎตามหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ
ที่สำรวจการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าไม้ตั้งแต่ปี 2498 จนถึงปี 2524 ว่ามีร่องรอยการทำประโยชน์ก่อน
ปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้สำรวจการครอบครองที่ดินในเขตป่า ประกอบกับ
ได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ที่ให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ที่จะได้รับการสำรวจการถือครองที่ดิน อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ได้นำข้อมูลการสำรวจเพื่อการยื่นขอใบรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการหลวงหนองหอย มาใช้เป็นข้อมูลการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าไม้ และจับกุมดำเนินคดีราษฎรรายที่ไม่มีรายชื่อเข้าร่วมการสำรวจ GAP ดังกล่าว โดยมิได้สำรวจการถือครองที่ดินทั้งหมดทุกแปลงที่มีการเข้าทำประโยชน์
ในพื้นที่ม่อนแจ่มตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เสียก่อน
            นอกจากนี้ แม้การฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าวจะมีขั้นตอนให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานได้ก็ตาม แต่การที่ให้ราษฎรที่ถูกจับกุมดำเนินคดีต้องเป็นฝ่ายแสดงพยานหลักฐานในขั้นตอนการดำเนินคดีนั้น ถือเป็นการสร้างภาระเกินจำเป็นให้แก่ราษฎร การกระทำดังกล่าวจึงส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัวได้อย่างปกติสุข และอาจไม่สามารถมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ได้ ดังนั้น การกระทำของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ที่จับกุมดำเนินคดีก่อนการสำรวจการครอบครองที่ดินมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของ
ผู้ร้องและราษฎรในพื้นที่จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและราษฎรในพื้นที่ม่อนแจ่ม
            กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 39/2565 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จึงเห็นควรมีมาตรการการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้ ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ชะลอการดำเนินการตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เช่น การให้ออกจากพื้นที่ การจับกุม รื้อถอนทรัพย์สิน จนกว่ากระบวนการสำรวจการครอบครองที่ดินและพิสูจน์สิทธิในที่ดินจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบ
            นอกจากนี้ ให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยและบริเวณโดยรอบ (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) เร่งรัดดำเนินการสำรวจการครอบครองที่ดินและพิสูจน์สิทธิในที่ดินในพื้นที่ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้กรมป่าไม้ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ราษฎรในพื้นที่ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือไม่มีที่ทำกินอื่น โดยให้ราษฎรมีส่วนร่วมและให้จังหวัดเชียงใหม่พิจารณากำหนดมาตรการการช่วยเหลือราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินด้วย รวมทั้งให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 โครงการหลวงหนองหอย และจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราษฎรในพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ รวมถึงประสบการณ์ในการบริหารจัดการพื้นที่ม่อนแจ่มเร่งรัดดำเนินการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างราษฎรกับหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบ
 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
3 พฤศจิกายน 2565

03-11-65-Press-release-แถลงข่าว-39-2565_.pdf
 

 

03/11/2565
Related Document Files
Scroll to top