กสม. จัดเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชนระดับชาติครั้งแรก ภาคีเครือข่ายร่วมประกาศเจตนารมณ์ยกระดับการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนในทุกด้าน

03/09/2022 171

               วันที่ 1 – 2 กันยายน 2565 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน : เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ กสม.” ขึ้น ในโอกาสครบรอบการดำเนินงานกว่า 20 ปี ของ กสม. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะในการเปิดพื้นที่ให้ประชาชน กลุ่มเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและกำหนดนโยบายเพื่อผลักดันสู่การปฏิบัติ โดยกำหนด 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่ (1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (2) สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม (3) สถานะบุคคล (4) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง และ (5) ความหลากหลายทางเพศ
               นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 2 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการแต่งตั้ง กสม. ชุดแรกเมื่อปี 2544 จนถึงปัจจุบัน สังคมมีพัฒนาการและมุมมองที่ดีขึ้นมากในเรื่องสิทธิมนุษยชน หลากหลายประเด็นที่ผู้คนเคยหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงหรือมองข้ามไป เช่น เรื่องความหลากหลายทางเพศ และเสียงของคนชายขอบ ได้ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นมาก อย่างไรก็ดี สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันยังมีความท้าทายในมิติของความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ หรือความไม่เข้าใจในอีกหลายประการ การจัดกระบวนการสมัชชาสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้จึงเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ได้มาแลกเปลี่ยนและหารือกันด้วยความมุ่งหวังผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชน อันหมายถึงการเคารพทั้งสิทธิของตัวเองและผู้อื่น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน
               ในเวทีดังกล่าว ภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งภาคประชาชน องค์กรเอกชน ภาควิชาการ และหน่วยงานของรัฐ ได้นำเสนอข้อมติซึ่งเป็นข้อเสนอและแนวทางการดำเนินงานเพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาใน 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนสำคัญของประเทศ สรุปได้ดังนี้
               1. สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีข้อมติในประเด็นสำคัญ 2 หัวข้อได้แก่ (1) การป้องกันและปราบปรามการทรมาน โดยมีข้อเสนอแนะสำคัญ เช่น การผลักดันการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายให้มีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาระบบการบริหารทั้งด้านองค์ความรู้ บุคลากรและงบประมาณขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และส่งเสริมศักยภาพภาคประชาชนในการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การผลักดันให้มีระบบการบันทึกข้อมูลสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุมตัวโดยแพทย์ของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการควบคุมตัว การผลักดันให้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาและที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายจากการถูกกระทำทรมานและการบังคับสูญหายได้ และการผลักดันให้มีหลักเกณฑ์/กลไกในการคุ้มครองประชาชนผู้ที่พบเห็นหรือแจ้งเหตุ นอกจากนี้ ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้แล้ว ควรผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED ) อย่างสมบูรณ์เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของอนุสัญญา
               (2) การบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งในทางปฏิบัติยังพบปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้พ้นโทษไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติและอาจหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ จึงมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมบริหารจัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลคดีระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบและภาระให้กับประชาชนผู้พ้นโทษในการยื่นคำร้องขอปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติอาชญากรให้เป็นปัจจุบันด้วยตนเอง รวมทั้งผลักดันให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 เพื่อให้ผู้บังคับการภูธรจังหวัดสามารถพิจารณาลบประวัติกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลไม่รับฟ้อง อีกทั้งในระยะต่อไปควรรวมถึงการลบประวัติของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับและรอการลงโทษด้วย ขณะที่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว ควรผลักดันให้มีกฎหมายกลางเป็นการเฉพาะเพื่อให้มีศูนย์กลางข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรที่มีระบบการจัดเก็บประวัติบุคคลที่ไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนจนเกินกว่าความจำเป็น
               2. สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอแนะในภาพรวมให้เร่งปรับปรุงกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกระดับอย่างแท้จริง และปรับปรุงระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลโดยนำแนวทางการประเมินผลกระทบสิทธิมนุษยชนผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ควรเร่งผลักดันให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ซึ่งมีสภาพบังคับในการใช้ออกแบบและจัดทำนโยบายและแผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติโดยคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้ง ควรมีการรับรองในกฎหมายและในทางปฏิบัติ รวมทั้งกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีสิทธิในการร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาในทุกขั้นตอน
               ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายมีข้อเสนอแนะให้ กสม. ผลักดันให้มีการประเมินผลกระทบสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน โดยร่วมมือกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) ด้วย
               3. สถานะบุคคล มีข้อเสนอแนะใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) การประสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ด้วยการสนับสนุนการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาสถานะหรือสัญชาติให้แก่ผู้มีคุณสมบัติ รวมทั้งการแก้ปัญหาให้กลุ่มเด็กที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เช่น เด็กนักเรียนกลุ่ม G เด็กที่ติดตามแรงงาน ตลอดจนผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแต่ไม่อาจขอสถานะหรือสัญชาติได้ เนื่องจากไม่ได้แสดงตนเมื่อรัฐเปิดให้ยื่นคำขอ เพื่อให้ได้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข การเดินทาง หรือการรับการสนับสนุนปัจจัยด้านการศึกษา ทั้งนี้ ควรเร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาและขจัดความไร้รัฐให้หมดไป (zero statelessness) ภายในปี 2567 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้
               (2) การสร้างเสริมศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย โดยควรเร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะทางทะเบียน ซึ่งในระหว่างดำเนินการควรมีมาตรการเพื่อประกันว่าจะเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและการศึกษาเป็นอย่างน้อย และให้มีการทบทวนกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรค หรือยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการยื่นคำขอมีสถานะหรือสัญชาติโดยใช้ภาษาที่ผู้มีสิทธิยื่นคำขอสามารถเข้าใจได้ง่าย นอกจากนี้ ควรเพิ่มบุคลากรและงบประมาณให้เพียงพอทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับชาติ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลได้อย่างเพียงพอ และควรนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสถานะบุคคลมาปรับใช้ในการทำงานแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ต้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการพิจารณาให้สถานะบุคคลหรือสัญชาติด้วย
               4. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง ภาคีเครือข่ายมีข้อเสนอแนะใน 3 กระบวนการ ดังนี้ (1) การพัฒนาระบบและกลไกในการบริหารจัดการภาวะวิกฤต โดยจัดให้มี “กลไกการดำเนินงานระดับพื้นที่” ที่เกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในลักษณะครบวงจร (One- stop service) ทั้งในด้านอาหาร การดูแลรักษาโรค ที่อยู่อาศัย/ที่พักพิง และพัฒนาให้มีระบบฐานข้อมูลของกลุ่มเปราะบางโดยเชื่อมประสานฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนพัฒนามาตรการเยียวยาช่วยเหลือของภาครัฐสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ไม่ยุ่งยาก/ซับซ้อน มีความทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
               (2) การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภาวะวิกฤต โดยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้เชิงรุกทั้งด้านสุขภาพและเทคโนโลยีเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ทางไกล และการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ควรมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้วยการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพกลุ่มเปราะบางและส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะด้านการเงิน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น การศึกษาของเด็ก ความมั่นคงทางอาหาร และการมีที่อยู่อาศัย
               และ (3) การพัฒนาการคุ้มครองทางสังคม หลักประกันทางสังคม และสวัสดิการของรัฐให้เป็นระบบถ้วนหน้า เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและดูแลทุกคนบนแผ่นดินไทย โดยควรพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ คือ ราชการ ประกันสังคม และบัตรทองให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ครอบคลุมทุกคนบนแผ่นดินไทย ทั้งคนไร้บ้าน ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ผู้ไม่มีสัญชาติไทย คนต่างด้าว และแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนพัฒนาสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมให้คุ้มครองการว่างงานของแรงงานทุกกลุ่ม นอกจากนี้ควรมีการประกันรายได้พื้นฐาน (Basic Income) ให้แก่ประชาชนในวัยทำงานทุกคน สนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็ก (แรกเกิด - 6 ปี) ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยอย่างถ้วนหน้า รวมทั้งควรปรับจำนวนเงินในระบบบำนาญแห่งชาติของผู้สูงอายุ (เกิน 60 ปี) ให้เพียงพอแก่การดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ
               และ 5. ความหลากหลายทางเพศ มีข้อเสนอแนะใน 4 ประเด็นได้แก่ (1) การเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานสิทธิความหลากหลายทางเพศ โดยต้องมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ สถานศึกษา ผู้นำศาสนาทุกศาสนา ภาคธุรกิจ และภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงความคิดเห็น (2) การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่รวมถึงผู้หญิงและผู้ชาย และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนรับฟังชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไม่ตัดสินและเคารพในความแตกต่างหลากหลาย (3) การผลักดันการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย/นโยบาย ได้แก่ (ร่าง) พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม และ(ร่าง) พระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ และควรมีการผลักดันนโยบายด้านอื่น ๆ เช่น หลักสูตรและกฎระเบียบในสถาบันการศึกษาที่เข้าใจและเป็นมิตรกับเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ การบริการทางสุขภาพองค์รวมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตร เป็นต้น และ (4) การสื่อสารสาธารณะ ต้องจัดให้มีการสื่อสารสาธารณะและการรณรงค์เพื่อขจัดอคติและสร้างการยอมรับในความหลากหลาย ทั้งนี้ กสม. และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันเฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบจากสื่อสาธารณะที่ตีตรา ลดทอนศักดิ์ศรี และสร้างภาพเชิงลบกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
               ทั้งนี้ ในช่วงสุดท้ายของเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชน ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์รวมพลังขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยพร้อมเพรียงกันดังนี้
               “พวกเราผู้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสิทธิมนุษยชนในวันนี้ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน รวมถึงเครือข่ายองค์กรชุมชนท้องถิ่น ขอยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนเสริมสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย พวกเราจะร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนในทุกด้านโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ทุกคนในสังคมไทยเข้าถึงสิทธิได้อย่างเท่าเทียม ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นและดำรงชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและสมานฉันท์”

Scroll to top