สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ “เมือง (ไม่) รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนเมืองต่อภาวะโลกเดือด” เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเด็นสิทธิชุมชนและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี

02/04/2567 2254

          เมื่อวันที่ 28 - 29 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมเบญจพร แกรนด์วิว ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายสุเรนทร์ ปะดุกา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้) เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ และนักเรียนฝึกงานประสบการณ์วิชาชีพจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย (ญ.ว.) เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ “เมือง (ไม่) รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนเมืองต่อภาวะโลกเดือด” จัดโดย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มูลนิธิชุมชนสงขลา ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ โดยภายในงานมีภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เข้าร่วม เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก มูลนิธิอาสาสร้างสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา องค์การบริการส่วนจังหวัดสตูล องค์การบริการส่วนจังหวัดพัทลุง ผู้แทนชุมชนเมืองพะตง ผู้แทนชุมชนเมืองควนลัง ผู้แทนชุมชนเมืองบ่อยาง และผู้แทนชุมชนเมืองปาดังเบซาร์ เป็นต้น
.
          สำหรับการเข้าร่วมการประชุมหารือในครั้งนี้ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “สิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน” รวมทั้งกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสิทธิชุมชนและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบุคคลที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Vulnerability) ซึ่งหมายถึง การที่บุคคลหรือชุมชนที่มีโอกาสและมีความอ่อนไหวสูงต่อผลกระทบ และมีความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับต่ำ โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและมีมาตราการเพื่อดูแลกลุ่มบุคคลและชุมชนดังกล่าว และควรมี “ยุทธศาสตร์การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience Strategy)” ซึ่งหมายถึง แผนและแนวทางในการบริหารที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดการรับมือและการจัดการความเสี่ยงหรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และเศรษฐกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่า การรับมือและการบริหารจัดการดังกล่าว ต้องใช้หลักสิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและแท้จริง โดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะร่วมกันขับเคลื่อนการรับมือต่อปัญหาดังกล่าว
 
          ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ จะเข้าร่วมประชุมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมทั้งพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลให้ กสม. จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน