สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสาน จัดเวที กสม. อีสานสัญจร หัวข้อ “การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำชีอย่างยั่งยืน” เพื่อแลกเปลี่ยนและรวบรวมสถานการณ์ปัญหาและแนวทางแก้ไขในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง

26/06/2567 23

          เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมแม่น้ำของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จัดกิจกรรม กสม. อีสานสัญจร หัวข้อ “การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำชีอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสภาพปัญหาของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำชี และเพื่อให้เกิดการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำชีแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน ผ่านการระดมความคิดเห็นร่วมกันจากมุมมองของประชาชน หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มน้ำชีครอบคลุมทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ประมาณ 70 คน

 

          การสัมมนาดังกล่าว นางสาวศยามล  ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดและแนะนำความเป็นมาของงาน จากนั้นเข้าสู่ช่วงเวทีแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำชี และทางออกของปัญหาในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำชีอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานชลประทานที่ 6 สำนักงานชลประทานที่ 7 สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 4 และนายอัตถพงษ์  ฉันทานุมัติ พยานผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนายไพโรจน์  พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการในเวทีแลกเปลี่ยน 

 

          นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม โดยใช้วิธีการสานเสวนา เพื่อให้เกิด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ผ่านหัวข้อการพูดคุยในหลายประเด็น ได้แก่ การร่วมบอกเล่าสภาพปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชีที่ผ่านมา การบอกเล่าปัญหา อุปสรรค และทางออกของการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี ตามแต่ละบทบาทที่ผู้เข้าร่วมได้เผชิญมา ทั้งในส่วนขององค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน รวมทั้งการแสวงหาแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำชีอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน โดยมีนางสาวศยามล  ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ผศ.ดร.ธนพร  ศรียากูล ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากรเพื่อแลกเปลี่ยนและหาข้อสรุปต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาในเวที

 

           ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะทั้งหมดจากกิจกรรมดังกล่าว มาประมวลและนำเสนอต่อสำนักงาน กสม. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ลุ่มน้ำชีอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน