สำนักงาน กสม. ร่วมโครงการประชุมสัมมนาสาขาประจำจังหวัดและเครือข่ายสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เรื่อง “เสริมสร้างเจตคติความเท่าเทียมระหว่างเพศ การเลือกปฏิบัติ ”

27/06/2567 174

          เมื่อวันที่ 24 – 25  มิถุนายน 2567 ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายภาณุพันธ์  สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวพีรดา ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 3 เข้าร่วมเป็นวิทยากร โครงการประชุมสัมมนาสาขาประจำจังหวัดและเครือข่ายสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เรื่อง “เสริมสร้างเจตคติความเท่าเทียมระหว่างเพศ การเลือกปฏิบัติ ” จัดโดย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรสาขาของสมาคมฯ และสมาชิกสมาคมฯ จำนวน  500 คน

 

          นายภาณุพันธ์  สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ร่วมการเสวนา ส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เด็กและสตรีพิการ โดยได้นำเสนอบทบาท หน้าที่ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาค เท่าเทียม และการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และบทบาทของ กสม. ในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ช่องทางการร้องเรียนและการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิคนพิการ บทบาทในการส่งเสริมการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิ และบทบาทในการเฝ้าระวังที่ กสม. มีหน้าที่ในการจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และเผยแพร่ต่อประชาชน โดยในปี 2566 ในประเด็นสิทธิคนพิการ กสม. มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้ดำเนินการในหลายประเด็น อาทิ การจ้างงานคนพิการ การปรับปรุงสภาพแวดล้อม การคุ้มครองเด็กและสตรีพิการจากการถูกคุกคาม เป็นต้น

 

          สำหรับการบรรยายให้ความรู้โดย นางสาวพีรดา ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 3  เป็นวิทยากรบรรยายในเรื่อง ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และความเสมอภาคระหว่างเพศ เด็กและสตรีพิการ โดยนำเสนอถึงหลักการสิทธิมนุษยชน เชื่อมโยงกับสิทธิของผู้พิการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ กรอบกฎหมายและนโยบายในประเทศในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศ และปัจจัยทับซ้อนทางอัตลักษณ์ซึ่งส่งผลต่อความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งแนวทางในการส่งเสริมพลังสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ

เลื่อนขึ้นด้านบน