สามเครือข่ายสิทธิ ผสานกำลังสำนักงาน กสม. ภาคอีสาน และส่วนกลาง ทำแผนประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พุ่งเป้า “พลังร่วมสร้าง สังคมห่วงใย ลดการละเมิดสิทธิ” ปี 2570

08/07/2567 129

          เมื่อวันที่ 4 – 5 กรกฎาคม 2567 ที่จังหวัดขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับประชาชนผู้ทรงสิทธิ (rights holders) กว่า 50 คน ร่วมสะท้อนสถานการณ์ข้อท้าทายหลักของ ใน 3 ประเด็นหลัก “กลุ่มคนเปราะบาง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเมืองและพลเมือง” เพื่อทบทวนสถานการณ์ และข้อท้าทายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมกับวางหมุดหมายที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน พร้อมทำข้อเสนอแผนการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งนำมาใช้ประมวลทำแผนระหว่างปี 2568 – 2570

          นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการ กสม. กล่าวย้ำในการประชุมว่า (1) การทำงานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สำนักงาน กสม. ดำเนินการเพื่อปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 20 จังหวัด และมีประเด็นที่แตกต่าง หลากหลาย (2) องค์กรชุมชน และเครือข่ายในพื้นที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างยาวนาน เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงนโยบาย หรือระบบ ทำให้เกิดการทำงานที่เชื่อมโยงประสานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง (3) การเริ่มต้นสำนักงาน กสม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการทำข้อมูลพื้นฐาน (baseline) พบทั้ง ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาบุคคล ภัยแล้ง และมลพิษหรือผลกระทบจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้น ในการออกแบบการทำแผนประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคีเครือข่ายพื้นที่ จึงเน้นปฏิบัติการที่สอดคล้องกับเสียงภาคประชาชนในพื้นที่เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของ กสม. ทั้งการสร้างความเป็นธรรมที่รวดเร็ว และการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ และ (4) เครือข่ายเป็นทุนทางความรู้ที่สำคัญ เป็นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการออกแบบแผนร่วมกัน จะมีทั้งแบบแผนรวม ที่ทำงานร่วมกัน อาทิ ในส่วนของ กสม. พุ่งเป้าที่ กระบวนการยุติธรรมต้นธาร สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิของผู้สูงอายุ หรือแผนแยกที่ดำเนินการร่วมกันภายใต้บทบาทหน้าที่ขององค์กรที่มีอยู่ โดยมีการเสริม หรือสนับสนุนระหว่างกัน

          ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับฟังแนวทางการดำเนินงานของ กสม. โดยผู้แทนทั้งจากสำนักงาน กสม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่วนกลาง ในกรอบบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบ พร้อมแสดงรูปธรรมการแก้ไขปัญหา โดยสรุปได้ดังนี้

          (1) กสม. ปัจจุบัน มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ใน 5 ส่วนหลัก คือ (1.1) การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา และการเยียวยาในส่วนที่เกี่ยวข้อง (1.2) การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ (1.3) การจัดทำข้อเสนอแนะ ปรับปรุงแก้ไขหลักสิทธิมนุษยชน (1.4) การชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงในส่วนที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และ (1.5) การส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง

          (2) การรับเรื่องร้องเรียน มีช่องทางที่แตกต่างหลากหลาย อาทิ อีเมล์ จดหมาย (ไปรษณีย์) การเขียนแจ้งรายละเอียดที่สำนักงาน หรือกลไกในพื้นที่ การโทรศัพท์ร้องเรียน และการนำส่งเรื่องร้องเรียนผ่านแบบฟอร์มทางเว็บไซต์

          (3) เรื่องที่ กสม. ไม่สามารถรับไว้ดำเนินการใด ๆ ได้ คือ กรณีที่มีศาลพิจารณารับในเรื่องเดียวกัน กรณีที่องค์กรอิสระอื่น ๆ รับไว้และมีผลการพิจารณาแล้ว (อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และอื่น ๆ) กรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว กรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ (อาทิ การไกล่เกลี่ยหนี้สิน การสนับสนุนงบประมาณ) และกรณีที่ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอต่อการพิจารณา

          (4) กรณีที่มีการรับไว้ตรวจสอบ จะมีการพิจารณา และติดตามข้อเท็จจริง พร้อมจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะ โดยจะมีผลทั้งการพิจารณาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการประสานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาล คณะรัฐมนตรี และการรายงานต่อรัฐสภา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วไป ทั้งนี้ กสม. รับฟังข้อจำกัดการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          ในตอนท้าย เครือข่ายสิทธิผู้แทนประเด็น (1) กลุ่มคนเปราะบาง (2) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ (3) การเมืองและพลเมือง ได้นำเสนอสถานการณ์ปัญหา ความคาดหวัง และแผนปฏิบัติการร่วม และแยกเฉพาะส่วน ในประเด็น โดยสำนักงาน กสม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่วนกลาง ในภารกิจการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จะนำมาประมวล จัดลำดับความสำคัญ พร้อมออกแบบแผนงาน และกิจกรรมในการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชน  พุ่งเป้า “การสร้างพลังร่วม สังคมห่วงใย ลดการละเมิดสิทธิ” ในปี 2570

เลื่อนขึ้นด้านบน