สำนักงาน กสม. ร่วมจัดโครงการสิทธิมนุษยชนสำหรับพระสงฆ์ผู้เยียวยาจิตใจ เพื่อให้พระสงฆ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

17/07/2567 32

          เมื่อวันที่ 10 -13 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ จัดโครงการสิทธิมนุษยชนสำหรับพระสงฆ์ผู้เยียวยาจิตใจ (Human Rights for Healer Monks : HRHM) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระสงฆ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักในหลักสิทธิมนุษยชน ความรู้ในกระบวนการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหลักการรักษาเยียวยาจิตใจ เพื่อนำไปให้คำปรึกษา แนะนำให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเสริมสร้างให้พระสงฆ์ร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนิมนต์พระสงฆ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย) และจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นพระสังฆาธิการ พระธรรมทูต พระสงฆ์นักธรรมชั้นเอก พระสงฆ์ซึ่งทำหน้าที่สอนศีลธรรมในโรงเรียน พระสงฆ์ที่เผยแพร่ศาสนาในพื้นที่เฉพาะ และพระสงฆ์ที่มีพรรษา 5 พรรษาขึ้นไป โดยมีพระสงฆ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 48 รูป

          โดยในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 มีพิธีเปิด โดยมีนายพิทยา  จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการ นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวรายงาน และพระสิริจริยาลังการ (ชรัส อุชุจาโร) รองเจ้าคณะภาค 18 และเจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสรร่วมบรรยายบทบาทของพระสงฆ์ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ มีพลเอก มณี  จันทร์ทิพย์ ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 นายนันทพงศ์  สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดด้วย 

          สำหรับกิจกรรมระหว่างวันที่ 10 – 13 กรกฎาคม 2567 เป็นการบรรยายถวายความรู้พระสงฆ์ เกี่ยวกับหลักการสิทธิมนุษยชนกับพระพุทธศาสนา โดยพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ป.ธ.9 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) การเยียวยาด้านจิตใจตามหลักการทางการแพทย์ และจิตวิทยา โดยนายแพทย์ณัฐกร  จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต การอำนวยความยุติธรรมและช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยากร โดย นางกนกรัตน์  เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. และนายธีรเดช  แสงจันทร์ ยุติธรรมจังหวัดปัตตานี และการฝึกปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างทักษะการบำบัด และเยียวยาจิตใจ ให้กับพระสงฆ์ด้วยกันเอง และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทีมวิทยากรกระบวนการจากสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ และมูลนิธิ สกพ. โดยถวายความรู้พระสงฆ์เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนประจำพื้นที่ เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในพื้นที่ได้

          เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 มีพิธีปิดโครงการ โดยนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ (สงัด ปัญญาวุโธ) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง กล่าวสัมโมทนียกถาเป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรและใบประกาศนียบัตรให้กับพระสงฆ์และผู้เข้าร่วมโครงการ และกล่าวปิดโครงการ

          เนื่องจากปัจจุบันพระสงฆ์และชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนลดลงจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากได้โยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเนื่องจากการได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงาน กสม. จึงจัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อถวายพลังเพิ่มเสริมพลังพระสงฆ์ในพื้นที่ให้พระสงฆ์เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำนักงาน กสม. จะได้ประสานกับหน่วยงาน เครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรเอกชนและประชาชนในพื้นที่เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน