สำนักงาน กสม. จัดกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ปี 2567 ในพื้นที่ภาคเหนือ

25/07/2567 631

          เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ  กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้นธาร (พื้นที่ภาคเหนือ) โดยมีนายภาณุวัฒน์  ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) นายพิทยา จินาวัฒน์ และนายบุญเเทน  ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสม. ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมเป็นวิทยากรกลุ่ม ณ โรงเเรมเฮอริเทจ เชียงราย โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

          ในการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือหลายภาคส่วน จำนวน 70 คน ได้แก่ 1) ภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล มูลนิธิพัฒนาชุมชนและภูเขา มูลนิธิพัฒนาประชาชนบนที่สูง มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ สมาคมลาหู่ในประเทศไทย สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ADRA Thailand และ The Freedom Story Thailand สภาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เป็นต้น 2) สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้น 3) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการรับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือประชาชน เช่น ยุติธรรมจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงนางเตือนใจ  ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ชุดที่ 3) เข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย

          กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “NHRC Justice Café” โดยได้ระดมความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น แบ่งเป็น 6 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การจับกุม การค้น การขัง และการออกหมายอาญา กลุ่มที่ 2 การแจ้งความและการตั้งข้อกล่าวหา กลุ่มที่ 3 การควบคุมตัว และการประกันตัว กลุ่มที่ 4 การสืบสวนสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐาน กลุ่มที่ 5 การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม การใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มที่ 6 การตรวจสารเสพติด ทั้งนี้ ภายหลังจากการระดมความคิดเห็นครบทั้ง 6 กลุ่ม ผู้แทนแต่ละกลุ่มได้นำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเด็นอื่น ๆ พร้อมทั้งรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากวิทยากร เพื่อเป็นการเติมเต็มประเด็นปัญหาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 

          สำหรับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้นธารนั้น ที่ผ่านมา สำนักงาน กสม. มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าวแล้ว ทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ภาคใต้ หน่วยงานในพื้นที่ กทม.  และยังจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และประมวลผลเพื่อนำเสนอในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ปี 2567 ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน