สำนักงาน กสม. เข้าร่วมกิจกรรมและเป็นสักขีพยานการรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม

31/07/2567 548

          เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมเอเชียกรุงเทพ นายภาณุพันธ์ สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในฐานะได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เข้าร่วมกิจกรรมและเป็นสักขีพยานการรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยและองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (EU) ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กและเยาวชนทั้ง 4 ภาค แสดงความคิดเห็นผ่านเวทีเสวนาในโครงการ “เสียงของเรา ทางเลือกของเรา: พลังสตรีและเยาวชนสำหรับพื้นที่พลเมืองประชาธิปไตย” โดยผู้แทนองค์กรเครือข่ายเยาวชนได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.)

          ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม 5 ประเด็น ดังนี้ 1) การยกระดับหลักสูตรการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาและอนามัยเจริญพันธุ์ 2) การแต่งกายตามเพศสภาพ โอกาสทางการศึกษาผ่านกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และปัญหาการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์ 3) ปัญหาการกำหนดหลักเกณฑ์การให้สัญชาติไทยแก่นักเรียนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี การขอยกเลิกการออกนอกพื้นที่ควบคุมของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ และการจัดสวัสดิการสังคมแก่สตรีที่เป็นบุคคลชายขอบ 4) การส่งเสริมให้ความรู้เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิและอัตลักษณ์ของผู้อื่นและการยกระดับการคุ้มครองเยาวชนจากความรุนแรงทุกรูปแบบ และ 5) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองเพื่อพัฒนาสร้างสังคมอย่างสร้างสรรค์

          ในการนี้ ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ในส่วนภูมิภาค กสม. มีสำนักงาน 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานอีก 2 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง สำหรับประเด็นปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเด็กที่ต้องร่วมกันผลักดัน อาทิ สิทธิดิจิทัล (digital rights) สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเด็กและเยาวชนจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ กสม. พร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วนในสังคม และขอขอบคุณสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยที่ได้เชิญมาเพื่อเป็นสักขีพยานการรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายในครั้งนี้

เลื่อนขึ้นด้านบน