สำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคใต้ ประสานเร่งด่วนกรณีอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราสั่งรื้อบ้านพักอาศัยของชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ เกาะบุโหลน จ.สตูล

15/08/2567 587

          เมื่อวันที่ 8 - 9 สิงหาคม 2567 นายสุเรนทร์  ปะดุกา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ลงพื้นที่ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเร่งด่วน กรณีอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราสั่งรื้อบ้านพักอาศัยของชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ เกาะบุโหลน จังหวัดสตูล โดยมีกำหนดการดังนี้

          วันที่ 8 สิงหาคม 2567 ที่ชุมชนอูรักลาโวยจ เกาะบุโหลนดอน ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผอ. สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ และคณะลงพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเก็บข้อมูลจากชุมชนซึ่งพบว่าเป็นชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโวยจ ที่อาศัยในพื้นที่มานาน การตั้งบ้านเรือนอาศัยมีลักษณะกึ่งถาวรและไม่ถาวรประมาณ 120 ครัวเรือน หลายรายปลูกสร้างที่อาศัยบนที่ดินของเครือญาติเนื่องจากไม่มีที่ดินของตนเอง โดยมีโรงเรียน มัสยิด และสุสานของชุมชน ใช้ร่วมกัน ไม่มีสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำ ที่มีคุณภาพและเพียงพอ และพบว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราสั่งให้รื้อถอนที่อาศัยตามกรณีเรื่องร้องเรียนจำนวน 1 ราย

          ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผอ. สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ และคณะ ประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ผู้แทนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ผู้แทนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล ผู้แทนอำเภอละงู ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-move เครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิต และกลุ่มชาติพันธ์อูรักลาโวยจ โดยที่ประชุมรับทราบข้อมูล สภาพปัญหาของชาติพันธุ์รักลาโวยจ ที่อาศัยอยู่บนเกาะบุโหลน และเสนอให้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราร่วมกับจังหวัดสตูลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต ที่อยู่อาศัย อย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมเสนอให้ดำเนินการสำรวจและจัดสรรพื้นที่ใช้สอยโดยกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ และให้ชะลอการสั่งรื้อถอนที่อาศัยตามกรณีเรื่องร้องเรียนไปก่อนจนกว่าการสำรวจพื้นที่ฯ และการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ จะได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน