สำนักงาน กสม. หารือสำนักงานศาลยุติธรรม เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

29/06/2566 1355

          เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานศาลยุติธรรม นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์  รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ได้เข้าพบผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม นำโดย นายเผ่าพันธ์  ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนางพัชรพร  โรจนสโรช ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) กับสำนักงานศาลยุติธรรม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
.
          การหารือในครั้งนี้ ทั้งสององค์กรได้ร่วมแลกเปลี่ยนกระบวนการ วิธีดำเนินงาน ตลอดจนข้อท้าทายการปฏิบัติงานตามภารกิจขององค์กร และหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันทั้งในด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ  โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ ดังนี้
.
          1. บทบาทและข้อท้าทายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานบุคคลที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐและการบังคับสูญหาย และบทบาทของศาลยุติธรรมในการใช้มาตรการทางกฎหมายทั้งก่อนและหลังการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 สำนักงานศาลยุติธรรมให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเห็นว่า หากสำนักงาน กสม. สามารถสนับสนุนข้อมูลหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนแนวทางที่นานาประเทศนิยามหรือกำหนดขอบเขตของการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดได้ เช่น การกระทำที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรม ที่จะทำให้การใช้และการตีความกฎหมายของผู้พิพากษาเป็นไปเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ทั้งสององค์กรยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเอกสารงานวิชาการในเรื่องอื่น ๆ ระหว่างกันต่อไป
 
          2. บทบาทเชิงรุกของศาลยุติธรรมในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา
สำนักงานศาลยุติธรรมย้ำว่า ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนากฎหมายและเครื่องมือต่าง ๆ นอกเหนือจากหลักประกัน เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในปัจจุบันมีช่องทางการยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมจะประชาสัมพันธ์ช่องทางการใช้บริการดังกล่าวให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ หากสำนักงาน กสม. จัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาคดีของศาล สำนักงานศาลยุติธรรมยินดีเข้าร่วมให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  

          3. ความเป็นไปได้ในการนำรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. เข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลยุติธรรม
จากการหารือพบว่า ข้อท้าทายประการหนึ่งของคดีสิ่งแวดล้อม คือ ความสามารถของคู่ความในการแสวงหาพยานหลักฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ในบางกรณีศาลมีข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการพิจารณาพิพากษาคดี ในชั้นนี้ทั้งสององค์กรจึงเห็นควรหารือร่วมกันต่อไปถึงความเป็นไปได้ และกลไกหรือวิธีการนำรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. เข้าสู่สำนวนคดี และยกระดับให้มีสถานะเทียบเท่าความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ อันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดให้สำนักงาน กสม. ซึ่งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชน เป็นหน่วยงานที่สามารถชี้ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและพยานหลักฐานให้กับศาลยุติธรรมได้ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม คือ ยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว และชดเชยเยียวยาค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม

          4. การส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมระหว่างองค์กร
สำนักงาน กสม. ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดอบรมหลักสูตรการสร้างเสริมความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปสม.) ขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรมมีหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) โดยที่ผ่านมาทั้งสององค์กรสนับสนุนให้บุคลากรในสังกัดเข้ารับการอบรมในหลักสูตรข้างต้นอย่างต่อเนื่อง การหารือในครั้งนี้ สำนักงาน กสม. ได้ขอบคุณสำนักงานศาลยุติธรรมที่ให้ความสนใจหลักสูตร ปสม. และขอให้สำนักงานศาลยุติธรรมพิจารณารับเชิญเป็นวิทยากรในหลักสูตรดังกล่าวในครั้งต่อไป ส่วนสำนักงานศาลยุติธรรมก็ตอบรับข้อเสนอของสำนักงาน กสม. ที่ขอให้พิจารณาเพิ่มวิชาสิทธิมนุษยชนไว้ในหลักสูตรอื่น ๆ ของสำนักงานศาลยุติธรรม โดยจะนำไปพิจารณาร่วมกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน