รองเลขาธิการ กสม. ลงพื้นที่ติดตามผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนช่วยเหลือเรื่องสิทธิผู้สูงอายุและสิทธิคนพิการ ในพื้นที่ชุมชนลับแล อ.วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี

28/10/2566 42
          เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ลงพื้นที่ชุมชนลับแล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณี กสม. มีมติให้ประสานการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองและคนพิการในชุมชนลับแล จำนวน 8 ราย เพื่อให้ได้รับการดูแลทั้งในเรื่องมาตรฐานความเป็นอยู่ และสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงและผู้พิการ ให้เป็นไปตามสิทธิที่พึงได้รับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี สาธารณสุขอำเภอวารินชำราบ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวารินชำราบ และเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองวารินชำราบร่วมลงพื้นที่เพื่อติดตามการประสานการคุ้มครองในครั้งนี้ด้วย
 
          โดยผลการลงพื้นที่ติดตามประสานการคุ้มครองสรุปได้ว่า ผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยติดเตียงและผู้พิการจำนวน 8 ราย ได้รับการดูแลช่วยเหลือทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์สนับสนุนทางการแพทย์ การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการลงตรวจเยี่ยม โดยทีมสหวิชาชีพจากเทศบาลเมืองวารินชำราบและโรงพยาบาลวารินชำราบเป็นประจำทุกสัปดาห์แล้ว ทั้งนี้ในระหว่างการลงพื้นที่ยังได้พบผู้ป่วยและผู้พิการรายใหม่เพิ่มเติมจำนวน 1 ราย ซึ่งเทศบาลเมืองวารินชำราบจะได้มีการช่วยเหลือและติดตามให้ได้รับสิทธิในด้านต่าง ๆ ต่อไป
 
          นอกจากนี้ ยังได้มีการร่วมหารือระหว่างสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหน่วยงานที่ร่วมลงพื้นที่ดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในระยะยาวให้กลุ่มเปราะบางและผู้ยากไร้ในชุมชนได้รับการดูแลให้เป็นไปตามสิทธิอย่างยั่งยืน โดยที่ประชุมมีการเสนอแนวทาง ได้แก่ 1) การให้เทศบาลสำรวจข้อมูลและจัดทำโครงการเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วย โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดอุบลราชธานี 2) การแก้ไข พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2554 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 เพื่อเพิ่มอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของผู้คนในพื้นที่ได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างยั่งยืน จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจระหว่างครอบครัวและคนในชุมชนเอง ซึ่งถือเป็นหน่วยพื้นฐานที่จะสร้างความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
 
          อนึ่งการประสานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมีที่มาจากการดำเนินการโครงการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนจากสถาบันการศึกษาสู่ชุมชน (Human Rights city) โดยสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ในการนำนักเรียน นักศึกษาลงพื้นที่ชุมชนลับแลเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลปัญหาสิทธิมนุษยชนและการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ชุมชน จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในที่สุด
เลื่อนขึ้นด้านบน