เลขาธิการ กสม. ร่วมกับรองปลัดกระทรวง อว. ประชุมหารือความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน

20/06/2565 1790

                         วันที่ 20 มิถุนายน 2565 นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ง รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว กรรมการอำนวยการศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ณ มหาวิทยาลัยบูรพา และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชุมหารือร่วมกับ นายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยผู้อำนวยการกองยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา และผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน โดยมีประเด็นหารือ 5 ข้อ ประกอบด้วย
 
1. การเสริมสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังค่านิยมเรื่องสิทธิมนุษยชนในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน การเข้าร่วมกิจกรรม หรือร่วมดำเนินงานกับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
 
2. การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ ความสนใจและศักยภาพสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง (เช่น งบประมาณ) และขอให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ตามหน้าที่บริการวิชาการเพื่อรับใช้สังคมและชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG.) ร่วมกัน
 
3. การกำหนดบทบาทของศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ให้อยู่ภายใต้โครงสร้างของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการสนับสนุนภารกิจบริการสังคมในด้านสิทธิมนุษยชนของมหาวิทยาลัยให้เป็นเอกภาพ มีความมั่นคง มีแบบแผนและเป็นระบบเดียวกัน
 
4. การปรับเปลี่ยนให้การดำเนินงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นภาระงานที่สามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดผลงานของบุคลากรของมหาวิทยาลัยและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขอตำแหน่งวิชาการจากภารกิจรับใช้ชุมชนและสังคมจากการทำงานกับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
 
5. การสนับสนุนกรอบอัตราบุคลากรประจำศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค และทรัพยากรตามความจำเป็น
 
                         สำนักงาน กสม. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการจัดการเรียนการสอนที่สร้างสรรสังคมแห่งการเคารพสิทธิ ทั้งนี้ จะมีการทบทวนการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้เกิดการขับเคลื่อนภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนในนามของมหาวิทยาลัยต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน