สำนักงาน กสม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเทศกาลหนังทุ่งกุลาเพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ทุ่งกุลา

28/02/2567 4454

          เมื่อวันที่ 23 – 26 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) โดยสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับเครือข่ายประกอบด้วย วัดโพธิการาม อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด  วัดสระเกษ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด พระสงฆ์นักสื่อสารอีสานบน มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น เพจทุ่งกุลาร้องไห้ ณ เกษตรวิสัย ไทอีสานพีบีเอส กาฬสินธุ์พีบีเอส PapaSlowly Film Studio The Isaan Record ลาวเด้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กองบรรณาธิการอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ ไทยพีบีเอส โอ้ละน้อ ครีเอชั่น และมูลนิธิสื่อสร้างสุข นำเยาวชน นิสิตสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนและสังคม และคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมทั้งเยาวชนจากจังหวัดขอนแก่น และยโสธร ลงพื้นที่ทุ่งกุลา จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งกำลังมีประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านในพื้นที่กับนโยบายการพัฒนาของรัฐ เพื่อฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้การสร้างภาพยนตร์และฉายภาพยนตร์กลางแปลงเพื่อมุ่งสร้างการเรียนรู้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยได้รับการสนับสนุนสถานที่ใช้ในการฝึกอบรม ณ วัดโพธิการาม เทศบาลตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด 
.
ในการนี้ ผู้แทนจากสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมในกิจกรรมโดยให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตามหลักการสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งบุคคลและชุมชนมีสิทธิในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด โดยได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ในมาตรา 43 มาตรา 50 (8 ) มาตรา 57 และมาตรา 58  นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอเกี่ยวกับหลักการของสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในอากาศสะอาดเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ให้แก่เยาวชนผู้เข้ารับการอบรม โดยสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะและมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนในทุกกิจกรรม ประกอบด้วย 1) การเสวนาสถานการณ์ในพื้นที่ ในหัวข้อ “ทุ่งกุลาร้องไห้จริงหรือ” 2) การแบ่งฐาน จำนวน 10 ฐาน เพื่อขยายการรับรู้ในด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร 3) การแบ่งกลุ่มปฏิบัติการเพื่อศึกษาเส้นเวลา (Timeline) ของประวัติศาสตร์ความเป็นมา 250 ปีในพื้นที่ทุ่งกุลา 4) การแบ่งกลุ่มลงพื้นที่ 11 พื้นที่เพื่อรับทราบข้อมูลเชิงลึกบริเวณชุมชนตำบลโพนสูง ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตน์ และบริเวณพื้นที่วัดสระเกศ ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด 5) การฝึกเขียนบทภาพยนตร์ที่มุ่งเป้าไปที่การรับชมเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่และการลงพื้นที่ 11 พื้นที่โดยรอบชุมชนในหลายตำบลเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์และตัดต่อภาพยนตร์
 
          จากนั้น ได้มีการจัดฉายหนังกลางแปลง โดยมีการเปิดงานด้วยกิจกรรมพื้นบ้านประกอบด้วย การแสดงละครนิทานท้องถิ่นเพื่อสร้างความตระหนักต่อทรัพยากรโดยเด็กนักเรียนในพื้นที่ การแสดงหมอลำพื้นบ้าน การแสดงศิลปะการพากย์หนังกลางแปลงอีสาน และการฉายหนังที่เยาวชนได้สร้างขึ้นจำนวน 11 เรื่อง 11 ประเด็นได้แก่ 1) ประเด็นความเข้าใจต่อการรับมือโรคอุบัติใหม่ - โควิดทุ่งกุลา 2) การอนุรักษ์ทรัพยากรอาหารท้องถิ่น พืช สัตว์ แมลง 3) การพัฒนาที่ส่งผลต่อพื้นที่การทำปศุสัตว์ท้องถิ่น - วัวรีโมท 4) การอนุรักษ์ทรัพยากรวิถียาสมุนไพรพื้นบ้าน 5) การจัดการทรัพยากรในประเด็นภัยแล้ง 6) การจัดการทรัพยากรในประเด็นภัยน้ำท่วม  7) วิถีการหาอยู่หากินจับปลาตามธรรมชาติ 8 ) การอนุรักษ์ป่าชุมชน 9) เอกลักษณ์ข้าวหอมมะลิ GI 10)การรักษาที่ดินเพื่อลูกหลาน และ11) ฝุ่น PM 2.5
 
          อนึ่ง กิจกรรมหนังทุ่งกุลา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลิตและสร้างเครือข่ายนักสื่อสารในภูมิภาคอีสานให้มีพื้นที่ในการเล่าเรื่องเพื่อร่วมผลักดัน สร้างสรรค์และขับเคลื่อนวาระทางสังคมที่จะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศและมุมมองใหม่เกี่ยวกับความเสมอภาคของคนภาคอีสาน โดยนำเสนอผ่านการเผยแพร่ภาพยนตร์สั้นที่ส่งเสริมมุมมองวัฒนธรรม วิถีชีวิตของพื้นที่ทุ่งกุลา และความตระหนักต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ทุ่งกุลาอย่างถูกต้อง โดยภายหลังการจัดกิจกรรมเทศกาลหนังทุ่งกุลาแล้วเสร็จ เครือข่ายผู้ร่วมจัดกิจกรรมได้มีการหารือเพื่อถอดบทเรียนกิจกรรมและการขยายผลไปสู่กิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างนักสื่อสารที่เป็นเยาวชนและผู้คนในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถนำเสนอประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนได้อย่างทันท่วงที และสามารถสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน

เลื่อนขึ้นด้านบน