สำนักงาน กสม. ร่วมกับ ตร. “ขยับ-ปรับ-ก้าว” สร้างกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำโปร่งใส ค้นหาโรงพักต้นแบบ ร่วมขับเคลื่อน “สังคมไทยไร้การทรมาน” และยกระดับเตรียมพร้อมหากรัฐบาลพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT)

23/02/2567 3272

          เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) นำโดย นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการ กสม. นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการ กสม. นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. และนางสาววันรุ่ง แสนแก้ว ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษชน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวและการป้องกันการทรมาน เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ต. ชัช  สุกแก้วณรงค์ รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) พล.ต.ต. วิทยา  เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานใน กมค. เพื่อหารือผลการดำเนินการเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดตัวโดยพนักงานสอบสวน การพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นต้นธาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวมถึงการร่วมมือกันในการจัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจ และการสำรวจพื้นที่สถานีตำรวจ เพื่อค้นหา “โรงพักต้นแบบ” ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยไร้การทรมาน และยกระดับเตรียมความพร้อม หากรัฐบาลพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT)
 
          ที่ประชุมได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานสำคัญ หลังจากที่รัฐบาลไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) โดยมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งต่อมา ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 และหลายภาคส่วนได้ขับเคลื่อนให้รัฐบาลไทยพิจารณา และเตรียมความพร้อมการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) ซึ่งมีเนื้อหาหลัก คือ (1) การพัฒนาระบบการเข้าเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ (deprivation of liberty) ที่เข้าข่ายการเป็นสถานที่ควบคุมตัว ภายใต้การดำเนินงานหรือการกำกับของรัฐ อาทิ สถานีตำรวจ/โรงพัก ห้องกัก/ห้องขัง เรือนจำ สถานที่ควบคุมตัวของทหาร/เรือนจำทหาร พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากการสู้รบ/จากความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน สถาบันจิตเวช และสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางหรือผู้ด้อยโอกาส (2) การจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM) ซึ่งกำหนดภารกิจของการตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพข้างต้นเพื่อป้องกันการทรมาน และ (3) การรองรับการตรวจเยี่ยมของคณะอนุกรรมการป้องกันการทรมานแห่งสหประชาชาติ (SPT) ซึ่งเป็นกลไกประจำพิธีสาร OPCAT ที่เน้นการเยือนแบบสร้างสรรค์และนำเสนอข้อค้นพบ หรือข้อเสนอแนะให้เฉพาะกับรัฐบาลและหน่วยรับการตรวจเยี่ยมเป็นสำคัญ
 
          โดยในส่วนนี้ ตร. เห็นพ้องร่วมกับสำนักงาน กสม. จัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อ (1) จัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจ เน้นการสร้างมาตรฐานทั้งทางกายภาพและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ต้องหา หรือผู้ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจ (2) เลือกสำรวจพื้นที่สถานีตำรวจจากทั้งหมด 1,484 แห่งทั่วประเทศ เพื่อค้นหา พัฒนา และยกระดับเป็น “โรงพักต้นแบบ” ตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
 
          นอกจากนั้น ยังมีการหารือความร่วมมือขับเคลื่อนข้อเสนอตามมติสมัชชาสิทธิมนุษยชน ในประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์อันดี ได้แก่ การลบทะเบียนประวัติอาชญากร การเร่งดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดตัวโดยพนักงานสอบสวน และการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นต้นธารให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ซึ่ง ตร. จะทบทวนและปรับปรุงคำสั่งคณะทำงานตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดโดยพนักงานสอบสวนอีกครั้ง ในขณะที่สำนักงาน กสม.จะพิจารณาจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอันมาจากนโยบาย หรือกฎหมาย เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
 
          ทั้งนี้ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 - 15.30 น. กสม. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จัดงานเสวนาวิชาการ “1 ปี พ.ร.บ. ซ้อมทรมานฯ ข้อท้าทายและความหวัง” ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) โดยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะเข้าร่วมนำเสนอความคืบหน้า และข้อจำกัดของการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว
 
          อนึ่ง พัฒนาการข้างต้นเป็นการสะท้อนถึงรูปธรรมในการ “ขยับ-ปรับ-ก้าว” สร้างกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสและไร้การทรมาน โดยหวังว่าในห้วงเวลาที่คณะกรรมการประจำอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ กำหนดวาระให้ประเทศไทยนำเสนอรายงานผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) ในเดือนพฤศจิกายน 2567 จะได้เห็นพัฒนาการของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน “สังคมไทยไร้การทรมาน” ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน