รองเลขาธิการ กสม. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้การต้อนรับและหารือร่วมกับ OHCHR

07/01/2566 119

          เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ให้การต้อนรับผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) นำโดย Mr. Pradeep Wagle หัวหน้าแผนกสิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจและสังคม OHCHR สำนักงานใหญ่ (Chief, Human Rights and Economic and Social Issues Section, OHCHR, HQ)   และ Mr. Dip Magar หัวหน้าทีมประจำประเทศไทย (Team Leader for Thailand in OHCHR)  และ Ms. Pratubjit Neelapaijit เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน OHCHR ประเทศไทย ที่เดินทางเข้าเยี่ยมและหารือแลกเปลี่ยนกระบวนการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
          การประชุมได้มีการหารือและนำเสนอกระบวนการทำงานที่ผ่านมานับตั้งแต่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดให้บริการแก่ประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ทั้งในกระบวนงานด้านการคุ้มครองและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งดำเนินงานครอบคลุมในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ได้แลกเปลี่ยนประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เป็นปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ ได้แก่ มิติสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล โครงการรถไฟความเร็วสูง การก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล โครงการเหมืองแร่ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดความขัดแย้งกันเกี่ยวกับสิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในที่ดินทำกิน และการเข้าไม่ถึงการเยียวยา มิติสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องมีการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาทักษะด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่กลุ่มเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
 
          นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นผลกระทบของประชาชาชนจากนโยบายการทวงคืนผืนป่าในอดีตซึ่งยังคงเป็นเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน หรือการขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ของรัฐ ซึ่ง OHCHR ได้ให้แนวทางการทำงานในประเด็นดังกล่าวที่ต้องคำนึงถึงมิติสิทธิมนุษยชนในทุกกระบวนการและการยึดหลักการตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) โดยพร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสำนักงาน กสม. พื้นที่ภูมิภาคเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มุ่งเน้นการประเมินผลกระทบในวงกว้าง และการจัดทำกรอบมาตรฐาน (baseline) ในการดำเนินนโยบายและการปฏิบัติของรัฐ สำหรับใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน
 
          ทั้งนี้ ในประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) นั้น สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กำหนดจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การติดตามสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม" ขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออร์คิด จังหวัดขอนแก่น เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการระบุ ติดตามและรายงานสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญอันเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ตลอดจนการมีส่วนร่วมในกลไกระหว่างประเทศและหน่วยงานระดับประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานจาก สำนักงาน กสม. ส่วนกลางและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในพื้นที่ภาคอีสาน

เลื่อนขึ้นด้านบน