สำนักงาน กสม. ร่วมกับ OHCHR ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การติดตามสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

10/11/2566 31

            ระหว่างวันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป (EU) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การติดตามสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมี นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณออเดรย์-แอน โรเชอเลอแมน เลขานุการเอก หัวหน้าคณะประสานงาน สหภาพยุโรป และคุณประดิป วาเกิล หัวหน้าฝ่ายสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม OHCHR สำนักงานใหญ่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม
 
            การอบรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วย ผู้แทนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานจาก สำนักงาน กสม. ส่วนกลาง และสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จากองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) กลุ่มเฟมินิสต์ปลาแดก เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (Isaan Gender Diversity Network) โครงการจัดตั้งมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และ ThisAble.Me  รวมทั้งสิ้น 22 คน มีวิทยากรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญภายใน OHCHR สำนักงานใหญ่ และ OHCHR สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกองค์กร อาทิ คณะกรรมการอนุสัญญาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยวิทยากรหลักได้แก่ คุณประดิป  วาเกิล หัวหน้าฝ่ายสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม OHCHR สำนักงานใหญ่ และคุณดิป  มาร์กา เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน และหัวหน้าทีมประเทศไทย OHCHR ประจำภูมิภาค
 
            ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมได้ร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์ และแนวทางการแก้ปัญหา ในการอบรมตลอดทั้ง 3 วัน ในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
1) การวางหลัก – มายาคติและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
2) ความรู้ความเข้าใจในหลักการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
3) การส่งเสริมการตระหนักถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในประเทศไทย: ประเด็นหลัก ความท้าทาย และก้าวต่อไป  
4) ความเชื่อมโยงระหว่าง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเน้นเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 
5) แนวคิดและหลักการพื้นฐานของวิธีการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ตามมาตรฐานของ OHCHR
6) การติดตามสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม- มิติสำคัญๆ โดยติดตามการร่างกฎหมาย และนโยบาย (กรณีศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่อุทยานและสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง หรือ สิทธิสุขภาพ การศึกษา โดยเฉพาะผู้พิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือสิทธิทางอนามัยเจริญพันธุ์) ติดตามการละเมิดผ่านกรณีหรือสถานการณ์เฉพาะ (กรณีศึกษาเรื่องการรุกไล่ที่ การพลัดถิ่นอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนา) ติดตามการละเมิดผ่านศาล และกลไกกึ่งศาล/ตุลาการ (กรณีศึกษาเกี่ยวกับสิทธิสิ่งแวดล้อมสะอาด มีสุขภาพ และยั่งยืน) กรณีศึกษาการใช้กลไกปกป้องภายในและระหว่างประเทศ 
7) การติดตามสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยใช้ตัวชี้วัด โดยเรียนรู้เกี่ยวกับการอธิบายตัวชี้วัดสิทธิมนุษยชน โดยเจาะจงในประเด็นสิทธิทางสุขภาพ สิทธิทางการศึกษา และสิทธิทางสวัสดิการสังคมอื่น ๆ  รวมถึงเครื่องมือสำหรับการวัดความก้าวหน้า และการเก็บข้อมูลสิทธิมนุษยชนโดยยึดแนวทางการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การยกระดับการใช้ข้อมูลโดยการทำงานกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกลไกเก็บข้อมูลอื่น ๆ
8 ) ความรู้เบื้องต้นในการติดตามสถานการณ์โดยพิจารณาจากการจัดทำแผนและใช้งบประมาน โดยเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับกรอบคิดด้านสิทธิมนุษยชนและการจัดทำแผนงบประมาณรัฐ กระบวนการจัดทำงบประมาณเพื่อปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน ลักษณะของงบประมาณที่ดี ตลอดจนบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์กรภาคประชาสังคมในการติดตามวงจรการจัดทำงบประมาณ
 9) การผสานมิติทางเพศในการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวคิดหลักในมิติทางเพศ การวิเคราะห์มิติทางเพศในฐานะเครื่องมือในการทำความเข้าใจโดยตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลาย การผสานมิติทางเพศเข้ากับวงจรการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชน
10) การใช้กลไกความรับผิดระหว่างประเทศ โดยการติดตามและส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ กลไกอนุสัญญา กลไกผู้รายงานพิเศษ และกลไกรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (UPR) รวมถึงการส่งเสริมการให้สัตยาบันและพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
11) การออกแบบและจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติในการติดตามสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในบริบทของประเทศไทย
 
            ตลอดการอบรมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการอบรมได้นำประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในแต่ละหัวข้อ ได้แก่ ปัญหาความการเลือกปฏิบัติและอคติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ การขาดความรู้เข้าใจในมิติเพศสภาพ ปัญหาการละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดกับผู้หญิงชาติพันธุ์ การให้ความรู้เกี่ยวกับเพศสุขภาพแก่เยาวชนมากยิ่งขึ้น ปัญหาการไล่รื้อที่ดินซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ ข้อจำกัด การถูกคุกคาม และประสบการณ์การปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ สิทธิของคนพิการที่ถูกละเมิดโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องปัจจุบัน 
 
            ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างผู้อบรมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม และ สำนักงาน กสม. ได้แก่ การจัดเวทีรับฟังสถานการณ์เพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยมีกรอบระยะเวลาสม่ำเสมอ การพัฒนาตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ร่วมกัน การหาแนวทางทำงานร่วมกันในประเด็นการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความร่วมมือในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เป็นต้น

เลื่อนขึ้นด้านบน