เลขาธิการ กสม. เข้าร่วมโครงการผู้ตรวจการแผ่นดินสัญจรพบประชาชน ครั้งที่ 52

22/03/2567 2059

          เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567 นายพิทักษ์พล  บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เลขาธิการ กสม.) เข้าร่วมโครงการผู้ตรวจการแผ่นดินสัญจรพบประชาชน ครั้งที่ 52 และร่วมเป็นวิทยากรการเสวนาในหัวข้อ “หน้าที่และอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560” ร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และผู้แทนจากสำนักงานศาลปกครอง โดยมีประชาชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 500 คน ณ ห้องยามดีแกรนด์บอลรูม โรงแรมเวลาดี นครพนม จังหวัดนครพนม
 
          ทั้งนี้ เลขาธิการ กสม.กล่าวถึง หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้แก่ (1) ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง  (2) จัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ต่อประชาชน (3) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน (4) ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม และ (5) สร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ กสม. ในการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และหน่วยงานทุกภาคส่วนภายในประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อสนับสนุน ร่วมมือและขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ให้เกิดความเป็นธรรมและก้าวหน้า โดยยึดถือหลักการและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
จากนั้นได้นำเสนอนโยบายของ กสม. ในชุดปัจจุบัน 5 ข้อที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน สร้างและสนับสนุนกระบวนการความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นต่อบทบาทของ กสม. ในระดับสากล และเร่งพัฒนาสำนักงาน กสม. ให้มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง โดยมีการนำเสนอสถิติเรื่องร้องเรียนจำแนกตามประเภทสิทธิมนุษยชนในปีงบประมาณ 2566 รวมทั้งสิ้น 940 เรื่อง โดยประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสถานะบุคคล และสิทธิชุมชน เป็น 4 ประเด็นที่มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดตามลำดับ และเมื่อจำแนกตามสถิติพื้นที่พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ซึ่งมีจำนวนเรื่องร้องเรียนมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร จึงทำให้เป็นที่มาของการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ณ จังหวัดขอนแก่น โดยรับผิดชอบในการส่งเสริม คุ้มครอง และเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ในช่วงท้ายยังได้เน้นย้ำว่าปัญหาของประชาชนเพียงหนึ่งปัญหาสามารถมีความเกี่ยวเนื่องกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระหลายองค์กร ซึ่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องดำเนินการโดยความร่วมมือและประสานงานระหว่างกันเพื่อการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว และคลอบคลุมในเชิงระบบ
 
          ในโครงการดังกล่าว สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภารกิจของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเฝ้าระวังสถานการณ์ เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภูมิภาคให้เข้มแข็งต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน