สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ร่วมเผยแพร่ความรู้สิทธิมนุษยชนในกิจกรรม จ.สงขลาเคลื่อนที่ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน” ประจำเดือนมีนาคม 2567

22/03/2567 1744

          เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 น. ที่วัดป่าขาด ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นายสุเรนทร์  ปะดุกา ผู้อำนวยการสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ และนักเรียนฝึกงานประสบการณ์วิชาชีพจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย (ญ.ว.) เข้าร่วมกิจกรรมจังหวัดสงขลาเคลื่อนที่ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน” ประจำเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งภายในงานมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมกว่า 50 หน่วยงาน เช่น จังหวัดสงขลา อำเภอสิงหนคร สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา สวนสัตว์สงขลา บริษัทข้าวทิพย์จำกัด เป็นต้น โดยหน่วยงานดังกล่าวได้ร่วมกันช่วยเหลือและบริการประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยนำหน่วยบริการมาให้บริการในพื้นที่ รับฟังสภาพปัญหาของประชาชนและร่วมหารือเพื่อแก้ไขต่อไป ตลอดจนให้การสงเคราะห์ เช่น มอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียน มอบสิ่งของและถุงยังชีพให้แก่ประชาชน บริการตัดผม บริการตรวจสุขภาพและรักษาโรคเบื้องต้น แจกจ่ายพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืช รวมถึงการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ตามภารกิจของหน่วยงานให้แก่ประชาชน เป็นต้น
 
          สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนสากล ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และรับให้คำปรึกษาโดย “คลินิกสิทธิมนุษยชน” รวมทั้งเผยแพร่กลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ กสม. เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงสิทธิของตนตามที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย อีกทั้งเข้าถึงกลไกการคุ้มครองหากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ จะร่วมกิจกรรม “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน” ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปยังอำเภออื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักในหลักสิทธิมนุษยชนสากลให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ 14 จังหวัด ภาคใต้ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน