ที่ปรึกษา กสม. เข้าร่วมเป็นวิทยากรในเวทีการประเมินสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง

11/03/2567 1731

          เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมพิษณุโลกออร์คิด ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายไพโรจน์  พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมเป็นวิทยากรในเวทีการประเมินสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง ภายใต้หัวข้อ “การสร้างความเข้าใจสิทธิชุมชน และสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการนโยบายสาธารณะสิทธิชุมชนด้านนิเวศและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนและเป็นธรรม จัดโดย สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ  เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและหารือในประเด็นป่าไม้และที่ดิน เหมืองแร่ เหมืองหิน เหมืองทอง ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ มลพิษ ภูมิอากาศ มลภาวะ ไฟป่า ฝุ่นควัน ขยะ น้ำเสีย และการจัดการทรัพยากรน้ำ ผ่านวิธีการประเมินสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นย้อนหลัง 10 ปี / การแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน / และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อ “สิทธิชุมชน”  
 
          ที่ปรึกษาประจำ กสม. ได้นำเสนอหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนกับสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ข้อเสนอแนะจากรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการขับเคลื่อนนโยบายของ กสม. ในประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งได้กล่าวถึง พัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนกับสิทธิในสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเริ่มต้นจากปฏิญญากรุงสตอกโฮล์ม หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ปี พ.ศ. 2515 ที่ให้ความสำคัญถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และปฏิญญากรุงริโอ หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาปี พ.ศ. 2535 ที่ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมีชีวิตที่ดีของมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่คำนึงถึงอนาคตและคนรุ่นหลัง รวมถึงการให้สิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) มีมติให้การรับรอง “สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นสิทธิมนุษยชนสากล” ดังนั้นจำเป็นต้องรณรงค์ และผลักดันให้มีการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสิทธิในการมีส่วนร่วมของชุมชนให้ชัดเจนในกฎหมายไทย โดยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มีการรับรองสิทธิดังกล่าว เช่น สิทธิชุมชนทางวัฒนธรรม สิทธิชุมชนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมและการพัฒนา สิทธิชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงความยุติธรรม เป็นต้น
 
          นอกจากนี้ เมื่อมีการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นสิทธิมนุษยชนสากลในปี 2564 กสม. มีนโยบายให้จัดงาน สมัชชาสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ซึ่งสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นที่ กสม. ให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนกิจกรรมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา กสม. มีการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ตามหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและข้อมติสมัชชาสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2565 มีการเสนอแนะการจัดทำกรอบปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ประเทศสมาชิกรับรอง มีการจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะประเด็นสิทธิมนุษยชนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการเตรียมการไต่สวนสาธารณะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย และการจัดทำข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายอากาศสะอาด และขับเคลื่อนข้อเสนอแนะปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เป็นต้น
 
          อนึ่ง เวทีการประเมินสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเหนือตอนล่าง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9  – 10 มีนาคม 2567 โดยมีกิจกรรมที่สำคัญคือ การเสวนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยชุมชนสู่สิทธิชุมชม การประชุมกลุ่มย่อยและประมวลสรุปผลสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนผ่านเวทีรับฟังประเด็นสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำเสนอแนวทางและกลไกการเรียนรู้ร่วมกันในการทำงานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเวทีการประเมินสถานการณ์ดังกล่าวได้มีการรับฟังความคิดเห็นในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และการสรุปการรับฟังความคิดเห็นในภาพรวมต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน