รองเลขาธิการ กสม. ร่วมกิจกรรมเสวนา "20 ปี ย้อนอดีต ทบทวนปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคตชายแดนใต้" ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

06/03/2567 1743

     เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่ห้องน้ำพราว 1 ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นางสาวรตญา  กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมพิธีเปิดและสังเกตการณ์กิจกรรมเสวนา “20 ปี ย้อนอดีต ทบทวนปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคตชายแดนใต้” ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินการจัดกิจกรรมฯ โดยมีนายนันทพงศ์  สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานในพิธีเปิด รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมฯ ประมาณ 250 คน 

     ทั้งนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ศอ.บต. ได้มีการรวบรวมปัญหา ข้อขัดข้อง อุปสรรค ของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำมาปรับปรุงแก้ไขข้อเสนอแนะต่าง ๆ สู่แนวทางแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกว่า 20 ปี จนนำไปสู่การอำนวยความเป็นธรรมที่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของรัฐบาล คือ "คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคนจะต้องดีขึ้น" 

     สำหรับภายในกิจกรรมมีการเสวนา “20 ปี ย้อนอดีต ทบทวนปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคตชายแดนใต้ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นหัวข้อ “การพัฒนากระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต” ตลอดจนกิจกรรม Workshop เพื่อร่วมกันวางแผนงานกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ

     จากนั้นรองเลขาธิการ กสม. และคณะ ได้เดินทางไปกราบนมัสการพระโสภณ วชิรนายก เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี ณ วัดควนนอก อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และพระสิริจริยาลังการ รองเจ้าคณะสงฆ์ภาค 18   เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร ณ วัดตานีนรสโมสร อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อขอรับคำแนะนำแนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนถวายพระสงฆ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 50 รูป ซึ่งมีแผนการจัดกิจกรรม ในห้วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2567 เพื่อเสริมสร้างพระสงฆ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน พัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ให้สามารถสื่อสารถ่ายทอดความรู้ และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาจิตใจให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน และชุมชนของตนได้

เลื่อนขึ้นด้านบน