สำนักงาน กสม. ร่วมจัดงานเสวนา "สิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม: สิทธิในอากาศสะอาด" และจัดนิทรรศการเนื่องในวันอากาศสะอาดสากล (International Clean Air Day)

08/09/2566 344

          เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย จัดงานเสวนาทางวิชาการหัวข้อ "สิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม: สิทธิในอากาศสะอาด" และร่วมจัดนิทรรศการ "สิทธิเจ้าของจมูก ไม่ถูกมองข้าม" เนื่องในวันอากาศสะอาดสากล (International Clean Air Day) เพื่อเผยแพร่และสร้างการรับรู้ให้กับสังคมในองค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวกับประเด็นสิทธิในอากาศสะอาด ในด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม ณ อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          โอกาสนี้ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรเสวนา หัวข้อ “การประกาศให้สิทธิในสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิมนุษยชนโดย UN การนำเข้าสู่ภารกิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการปรับระบบกฎหมายไทยเพื่อรับรองสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม : กรณีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด” ร่วมกับ Dr. David Boyd อดีตผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม นางสาวร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Beatriz Cardenas, Air Quality Global Director, World Resources Institute (WRI)

           ในการเสวนาดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงภารกิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อทุกคนที่อยู่ในดินแดนของราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่มีสัญชาติไทยก็ตาม และต้องพัฒนากฎหมายและนโยบายให้สอดคล้องกับกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยเป็นภาคี และกล่าวว่าวิกฤตสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คนไทยและผู้คนในภูมิภาคเอเชียเผชิญอยู่ ได้แก่ ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้วัสดุทางการเกษตรและการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์ สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ดินถล่ม น้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น การกัดเซาะชายฝั่ง การเพิ่มขึ้นของประชากรช้างป่า ทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลาย สัตว์ที่หายากใกล้สูญพันธุ์ทั้งบนบกและในทะเล รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาและกิจกรรมของมนุษย์ที่ใช้สารเคมีและวัตถุอันตราย ทำให้มีโรคอุบัติใหม่ และโรคมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยยังขาดการวางแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ และคนไทยยัง ไม่รู้ข้อมูลและมีความรู้ไม่เท่าทันต่อผลกระทบดังกล่าว

          ในทางกฎหมายสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญยังไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพ สิทธิในอากาศสะอาด และสิทธิในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี

          ในทางนโยบาย แม้ว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนปฏิบัติการด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำหนดไว้เป็นตัวหนังสือ แต่ในการขับเคลื่อนนั้นยังขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองที่ยังไม่มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติและกฎหมายลำดับรองนั้น ยังมีช่องว่างและไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบไม่ได้มีการติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ และกฎหมายยังมีช่องว่างในการควบคุมกำกับให้ผู้ประกอบกิจการมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

          สำนักงาน กสม. ได้ร่วมกับ กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum : SEANF) กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions : APF) และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ในการพัฒนากรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค ศึกษากรอบสิทธิทางสิ่งแวดล้อมเชิงเนื้อหาและเชิงกระบวนการ และการเข้าถึงความยุติธรรม จากหลักการที่ 10 ของปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 ได้มีข้อมติที่ 76/300 ซึ่งรับรองว่าสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน โดยเรียกร้องให้รัฐ องค์การระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาสังคม ร่วมมือกันเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม อนุสัญญาออร์ฮูส (The Aarhus Convention : An implementation Guide) ข้อตกลงเอสคาซู (Escazu Legal and Policy Assessment tool) และแนวทางบาหลี (Bali Guideline Implementation Guide) เพื่อขับเคลื่อนให้มีการพัฒนากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเด็นโครงการลงทุน และกิจกรรมซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับคนไทยและคนในภูมิภาคดังกล่าว นอกจากนี้ กสม. ยังได้นำหลักการดังกล่าวมาพัฒนาข้อเสนอในการคุ้มครองสิทธิในการคุ้มครองสิทธิของทุกคนในรุ่นปัจจุบันและอนาคตให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะต้องมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ นโยบายของรัฐ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ

          ในปี พ.ศ. 2566 กสม. มีการตรวจสอบหลายโครงการและกิจการที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น โครงการเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม โครงการเขื่อนและถนน รวมทั้งโครงการที่มีการลงทุนข้ามพรมแดน ได้แก่ เขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม โรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา โดยการตรวจสอบผู้ประกอบการของไทยที่มีการลงทุนพัฒนาโครงการในประเทศเพื่อนบ้านของไทย และได้ประมวลปัญหาและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาทั้งมาตรการทางบริหาร ทางกฎหมาย และทางนโยบาย ดังนี้

          1. ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีการทบทวนนโยบายห้ามเผาเด็ดขาด (zero burning) โดยพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศที่คำนึงถึงบริบทเชิงพื้นที่และความจำเป็นของประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พิจารณาจัดทำตัวชี้วัดที่ทุกภาคส่วนร่วมกับชุมชนเห็นพ้องต้องกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงการบริหารการจัดการมลภาวะทางอากาศ ปรับปรุงระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยกำหนดนโยบายไปยังระดับพื้นที่ เชื่อมโยงข้อมูลในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้สะดวก และถูกต้องแม่นยำ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณในการถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิงร่วมกับชุมชนและหน่วยงานในระดับจังหวัด

          2. การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดยเสนอให้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นกฎหมายกลางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรับรอง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิชุมชนและสิทธิทางสิ่งแวดล้อม และตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะวิกฤตมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สนับสนุนการจัดทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น

          3. การจัดทำความเห็นและข้อเสนอต่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่ยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในระดับการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ การสำรวจอาชญาบัตรพิเศษ กระบวนการรับฟังความคิดเห็น กระบวนการให้อนุญาต กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งกองทุนเหมืองแร่ 

          4. กสม. ร่วมกับ AICHR ในการพัฒนากรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค โดยเชื่อมโยงกับ กรณีการตรวจสอบโครงการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคแม่น้ำโขง

          5. การเฝ้าระวังสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และมีแผนการจัดตั้งกลไกการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐ
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า กสม. ต้องพบกับความท้าทายต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งต้องใช้ข้อมูลและองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในทางสหวิชาการในมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และสุขภาพ ต้องรับฟังความคิดเห็นและร่วมมือกับภาคประชาสังคมและภาคชุมชนซึ่งมีความรู้และประสบการณ์โดยตรงในการตรวจสอบอย่างรอบด้าน ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เสนอความเห็นในทางนโยบายและกฎหมายให้กับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนติดตามให้มีการจัดทำกฎหมายในชั้นของหน่วยงานของรัฐและของรัฐสภา เพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุผลต่อการคุ้มครองสิทธิชุมชน สิทธิในอากาศสะอาดและสิทธิในสิ่งแวดล้อม ที่เป็นรูปธรรมปฏิบัติได้

          ทั้งนี้ นิทรรศการ "สิทธิเจ้าของจมูก ไม่ถูกมองข้าม" มีการจัดแสดงระหว่างวันที่ 7, 11 - 15 กันยายน 2566 ณ บริเวณลานเอนกประสงค์ อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 9 กันยายน 2566

เลื่อนขึ้นด้านบน