สำนักงาน กสม. จัดงานเสวนาและมอบรางวัลการประกวดภาพถ่ายและคลิปสั้น TikTok หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน” – หวังเยาวชนร่วมเผยแพร่แนวคิดสิทธิมนุษยชนสู่สังคม

13/03/2565 2083

          วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จัด “งานเสวนาและพิธีมอบรางวัลการประกวดภาพถ่ายสิทธิมนุษยชนและการประกวดคลิปสั้นผ่านแพลตฟอร์ม TikTok” ภายใต้โครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจและยืนเคียงข้างสิทธิมนุษยชน (Youth Standing Up for Human Rights) โดยมีนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิด ในการนี้ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช นางปรีดา คงแป้น นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.พิทักษ์พล  บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นเกียรติในงาน
​          ในงานดังกล่าว มีการแสดงทัศนะ (Talk) หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน” โดยผู้ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ ของสังคม ประกอบด้วย
​          (1) คุณโยธิน ทองพะวา สภาเด็กและเยาวชน กล่าวในหัวข้อ “เด็กและเยาวชนกับสิทธิมนุษยชน” สรุปว่า สิทธิมนุษยชนคือเรื่องใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ต้องทำให้เด็กเห็นว่าสิทธิมนุษยชนอยู่รอบตัวของพวกเขา และการที่จะปกป้องเด็กได้ไม่จำเป็นต้องไปคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงเท่านั้น แต่สามารถเริ่มต้นได้เพียงแค่เราช่วยกันสอดส่องดูและเฝ้าระวังสถานการณ์เสี่ยงที่เด็กต้องเผชิญ
​          (2) คุณณาดา ไชยจิตต์ นักวิชาการอิสระ กล่าวในหัวข้อ “การกำหนดเจตจำนงของผู้มีความหลากหลายทางเพศ” สรุปว่า สิทธิในการกำหนดเจตจำนงในชีวิตของตนเอง (the rights of self determination) เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ทั้งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนในแง่การออกกฎหมายลูกต่าง ๆ เช่น กฎหมายการสมรสเท่าเทียม เพื่อทำให้คนทุกเพศได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสามารถกำหนดเจตจำนงของชีวิตได้เช่นเดียวกันกับหญิงและชาย
​          (3) คุณโชไอซ์ ปาทาน ผู้แทนเยาวชนคนไทยพลัดถิ่น กล่าวในหัวข้อ “สถานการณ์ปัญหาของผู้ไม่มีสิทธิสถานะในประเทศไทย” สรุปว่า ยังมีคนไทยพลัดถิ่นอีกหมื่นกว่าคนในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ และหลายคนต่อสู้มาเป็นสิบปี การได้รับสิทธิสถานะบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นได้รับโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต โดยอยากให้ทุกคนในสังคมมองเห็นคนไทยพลัดถิ่นและคนไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นคนเช่นกัน
​          (4) คุณนลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ ThisAble.me กล่าวในหัวข้อ “คนพิการกับการเดินทาง” สรุปว่า คนพิการต้องขาดโอกาสในชีวิตหลายอย่างเพราะเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้ และหลายคนต้องถูกบังคับโดยสภาพร่างกายให้จำต้องอาศัยอยู่ในที่ใดที่หนึ่งโดยไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมกับคนอื่นในสังคม ดังนั้น การเดินทางได้อย่างอิสระและปลอดภัยควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนพิการได้รับและมีเช่นคนทั่วไปในสังคม
          (5) ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “สิทธิผู้หญิงในปัจจุบันและภาพหวังในอนาคต” สรุปว่า  ความรุนแรงทางเพศคือสิ่งชั่วร้ายที่สังคมและวัฒนธรรมแบบปิตาธิปไตยได้หล่อหลอมให้ผู้ชายคุ้นชินต่อการเป็นผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่ผู้หญิงต้องชินต่อการยอมจำนน สังคมต้องตระหนักรู้ถึงความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง และช่วยกันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อให้ผู้หญิงหลุดพ้นจากการถูกกระทำรุนแรงและสามารถกำหนดเจตจำนงในชีวิตของตัวเองได้เท่าเทียมผู้ชาย
          (6) คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักวิชาชีพสื่อมวลชน กล่าวในหัวข้อ “เสรีภาพสื่อ” สรุปว่า สื่อมวลชนควรมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นปากเสียงให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับอำนาจต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่ถูกละเมิดฯ ได้รับความยุติธรรม
          (7) คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสรุปภาพรวมในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน” สรุปว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีความสำคัญกับทุกคน เพราะสิทธิธรรมชาติ (Natural Rights) ที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิดและไม่มีใครมีสิทธิพรากเอาไปจากเราได้ สิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครอง ซึ่งนอกจากเราจะคำนึงถึงสิทธิของตัวเองแล้ว เราต้องให้ความเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย สังคมจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
​          จากนั้น มีการเสวนามุมมองของคณะกรรมการตัดสินผลงานการประกวดภาพถ่ายและคลิปสั้นผ่านแพลตฟอร์ม TikTok โดย ผู้แทนคณะกรรมการตัดสินผลงาน ซึ่งได้สะท้อนถึงคุณค่าของทุกผลงานที่สามารถร่วมกันสะท้อนและสร้างความตระหนักประเด็นสิทธิมนุษยชน รวมถึงมุมมองของเยาวชนจากเรื่องดังกล่าวไปสู่สังคมได้
          ช่วงท้ายของงานมีพิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการประกวดภาพถ่ายและคลิปสั้น TikTok ทั้งประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้บริหารสำนักงาน กสม. รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติ ได้ร่วมถ่ายภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับรางวัลด้วย
          อนึ่ง กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องและเท่าทันเรื่องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ปัจจุบัน และนำผลงานเหล่านั้นเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ต่อไปในวงกว้าง ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. ได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานภาพถ่ายและคลิปสั้นผ่านแพลตฟอร์ม TikTok  หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน” ของผู้ได้รับรางวัล ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 13 มีนาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
​          ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามการตัดสินและผลงานของผู้ได้รับรางวัลได้ที่ https://www.facebook.com/100069312125516/posts/248592427461160/?d=n  (การประกวดภาพถ่าย) และ https://www.facebook.com/100069312125516/posts/248621080791628/?d=n (การประกวดคลิปสั้น TikTok)

เลื่อนขึ้นด้านบน