กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 47/2566 กสม. ชงข้อเสนอแนะปรับปรุงกฎหมายโทษประหารชีวิตให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน - เผยผลการดำเนินงานและติดตามการขับเคลื่อนงานต่อต้านการทรมานปี 2566 หลัง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีผลบังคับใช้

28/12/2566 37

 วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 47/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
 
                                                                                 1. กสม. เสนอแนะปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดต้องคำพิพากษาศาลทหารให้ลงอาชญาประหารชีวิต ท่านให้เอาไปยิงเสียให้ตาย” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า “การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้”
 
            จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลกฎหมายไทยในปัจจุบัน พบว่า กฎหมายหลายฉบับยังคงมีโทษประหารชีวิต มีกฎหมายบัญญัติโทษประหารชีวิตสำหรับการกระทำความผิดที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ที่สุด เช่น ความผิดคดียาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น และยังมีกฎหมายบัญญัติให้มีโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญาทหาร และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 กสม. จึงเห็นความจำเป็นในการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
 
            ทั้งนี้ กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เอกสารวิชาการ และความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นแยกเป็นสองประเด็นดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง โทษประหารชีวิตและวิธีการประหารชีวิตกับหลักสิทธิมนุษยชน เห็นว่า กฎหมายไทยกำหนดวิธีการประหารชีวิตไว้สองวิธี คือ ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 6 กำหนดให้ยิงเสียให้ตาย ซึ่งจะใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 19 กำหนดให้ฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย โดยทั่วไปแล้วจะใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดที่เป็นพลเรือน รวมถึงผู้กระทำความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร อย่างไรก็ดี แม้โทษประหารชีวิตจะมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้แค้นทดแทนผู้กระทำความผิดให้สาสมกับความผิดที่ได้กระทำลงไป เพื่อข่มขู่ยับยั้งป้องกันมิให้มีการกระทำความผิด เพราะทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับ เพื่อตัดโอกาสในการกระทำความผิดซึ่งจะช่วยป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ แต่โทษประหารชีวิตไม่สามารถทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับการแก้ไขฟื้นฟูหรือกลับตัวมาอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และไม่สามารถแก้ไขกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดได้
 
             นอกจากนี้ การที่ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายอาญาทหารกำหนดวิธีการประหารชีวิตไว้แตกต่างกัน อาจเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานะของบุคคล ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 26 อย่างไรก็ตาม การประหารชีวิตไม่ว่าด้วยวิธีใดย่อมเป็นการพรากชีวิตของบุคคล ซึ่งสิทธิในชีวิตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดซึ่งไม่อาจพรากไปได้ และยังเป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การประหารชีวิตซึ่งไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติกา ICCPR รวมทั้งอาจเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล และมาตรา 28 ที่บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล และห้ามการทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม อีกทั้งข้อมูลหรือหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า โทษประหารชีวิตมีผลในการข่มขู่ยับยั้งหรือป้องปรามการกระทำความผิด
 
            หากพิจารณาตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) ด้านกระบวนการยุติธรรม มีข้อเสนอแนะให้ศึกษาทบทวนกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดที่ไม่เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่สุด และพิจารณาศึกษาความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 ของกติกา ICCPR โดยมีตัวชี้วัดเป็นการมีกิจกรรมรณรงค์หรือสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโทษประหารชีวิต และการมีแนวทางพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับฉบับดังกล่าว และแผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับและคำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 มีข้อเสนอแนะเรื่องการพิจารณาให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 ของกติกา ICCPR การทบทวนโทษประหารชีวิตเพื่อนำไปสู่การระงับหรือยกเลิกโทษประหารชีวิต การดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต และการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิต และวิธีการลงโทษอื่นแทนโทษประหารชีวิต
 
            ประเด็นที่สอง การทบทวนกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ควรต้องทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว เพื่อให้ศาลสามารถใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษประหารชีวิต และพิจารณากำหนดการลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิดและพฤติการณ์ส่วนตัวของผู้กระทำความผิดแต่ละราย นอกจากนี้ ควรต้องทบทวนกฎหมายทั้งหมดที่มีโทษประหารชีวิตที่ไม่เข้าข่ายเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุด เช่น ในคดียาเสพติด และคดีทุจริต เป็นต้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกติกา ICCPR ข้อ 6 วรรค 2 ที่กำหนดว่า ประเทศที่ยังไม่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต การลงโทษประหารชีวิตอาจกระทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดตามกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด
 
            ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการและการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงกลาโหม เพื่อดำเนินการ ดังนี้
 
            (1) การดำเนินการระยะสั้น ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่กำหนดโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่ และออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียวที่อยู่ในกฎหมายฉบับต่าง ๆ รวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. 2565 โดยกำหนดให้ศาลสามารถใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษประหารชีวิตเพื่อกำหนดโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิดและพฤติการณ์ส่วนตัวของผู้กระทำความผิดแต่ละราย โดยอาจนำข้อเสนอการใช้มาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษประหารชีวิตขององค์กรปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International) มาพิจารณาเพื่อกำหนดทางเลือกในการลงโทษ และจะต้องมีกลไกที่เป็นหลักประกันความปลอดภัยให้แก่สังคมด้วย โดยควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาของแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับและคำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก UPR รอบที่ 3
 
             และ ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตที่ไม่เข้าข่ายเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุด (The most serious crimes) เช่น คดียาเสพติด และคดีทุจริต เป็นต้น รวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. 2565 เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตที่ไม่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดภายในปี พ.ศ. 2570 ตามกรอบระยะเวลาในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570)
 
            นอกจากนี้ ให้สร้างความรู้ความเข้าใจและผลกระทบเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตให้แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องตามกรอบระยะเวลาของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล
 
            (2) การดำเนินการระยะยาว ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตที่เหลือทั้งหมด และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการสนับสนุนข้อมติการพักใช้โทษประหารชีวิต และการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 ของกติกา ICCPR โดยให้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการที่แน่นอนด้วย
 
                                         2. กสม. เผยผลการดำเนินงานและติดตามการขับเคลื่อนงานต่อต้านการทรมานปี 2566 หลัง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีผลบังคับใช้

นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยผลการดำเนินงานและติดตามการขับเคลื่อนงานต่อต้านการทรมานในรอบปี 2566 ระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามและให้ข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาและผลักดันร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นำมาซึ่งความยินดียิ่งของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้มานานกว่า 10 ปี
 
            ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการที่สำคัญ เช่น คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย ด้านนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ และแพทย์ทางจิตเวชศาสตร์ อีกทั้ง มีการจัดทำระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมตัว การฝึกอบรมและการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ถอนคำแถลงตีความ (Interpretative Declaration) สำหรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งเดิมเคยจัดทำคำแถลงตีความไว้ในข้อบทที่ 1 (นิยามของคำว่าทรมาน) ข้อบทที่ 4 (การกำหนดให้การกระทำทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา รวมทั้งสำหรับการพยายามกระทำทรมาน การสมรู้ร่วมคิด หรือการมีส่วนร่วมในการทรมาน) และข้อบทที่ 5 (การกำหนดเขตอำนาจเหนือความผิดทั้งปวง) เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษการทรมานฯ เป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศไทยมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แล้ว จึงถือเป็นการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม เยียวยา ดำเนินคดี และลงโทษการทรมานฯ อย่างสมบูรณ์ จึงทำให้ประเทศไทยสามารถถอนคำแถลงดังกล่าว อันเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งสหประชาชาติได้แจ้งเวียนตราสารดังกล่าวของไทยแล้ว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566
 
             นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ยังส่งผลให้มีการยกเลิกศูนย์ธำรงวินัยของกองทัพบก (ทบ.) การจัดตั้งศูนย์รับแจ้งการควบคุมตัวและดำเนินการตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ของกรมการปกครอง รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (ศป.ทส.) ของสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ พบว่าสถิติการรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมดตั้งแต่ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 – วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมาน การลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี จำนวน 51 ราย การบังคับสูญหาย จำนวน 6 ราย แต่ยังไม่ปรากฏรายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนและการฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งภาคประชาสังคมได้ออกมาแสดงข้อห่วงกังวลในประเด็นดังกล่าวด้วย
 
            ขณะเดียวกัน กสม. เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมิได้เข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - OPCAT) ซึ่งได้กำหนดกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติไว้ (National Preventive Mechanism - NPM) ส่งผลให้ไทยยังขาดกลไกการเข้าตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวอันสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุซ้อมทรมาน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกระบวนการจับกุมตัวและการคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ กสม. จึงขอเน้นย้ำให้รัฐบาลพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ หรือ OPCAT ตามที่ประเทศไทยได้เคยให้คำตอบรับและคำมั่นต่อนานาชาติไว้ โดย กสม. พร้อมเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตามกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ หรือ NPM ที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายในการป้องกันและคลี่คลายปัญหาการซ้อมทรมานในประเทศให้ลดลง
 
           ในด้านการดำเนินงานของ กสม. ทุกชุดที่ผ่านมา ล้วนให้ความสำคัญกับภารกิจการตรวจเยี่ยมสถานควบคุมตัวซึ่งเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยใช้มาตรฐานที่มีอยู่แล้ว เช่น ข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) และข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) เป็นกรอบในการดำเนินการ ปัจจุบัน กสม. อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐบาลเร่งเข้าเป็นภาคีพิธีสาร OPCAT และเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับมาตรฐานการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานการทำหน้าที่กลไก NPM ตามพิธีสาร OPCAT โดยสำนักงาน กสม. ได้จัดตั้งกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวและการป้องกันการทรมานเป็นหน่วยเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนงานต่อต้านการทรมาน ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของ กสม.
 
            นอกจากนี้ กสม. ยังมีนโยบายสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการส่งเสริมการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ให้มีประสิทธิภาพ โดยได้ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดริเริ่มโครงการอบรมให้ความรู้แก่ตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงภายใต้การประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์พิเศษ เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนัก มีส่วนร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการกระทำทรมานและการบังคับให้สูญหาย โดยสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นหน่วยงานสำคัญตามกลไกของกฎหมายดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ สำนักงาน กสม. ยังได้ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐาน และระบบการป้องกัน คุ้มครอง และเยียวยาตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่ การป้องกัน การคุ้มครอง และการเยียวยา ด้วย
 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
28 ธันวาคม 2566

 

28/12/2566

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน