กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 13/2567 กสม. เชื่อมีการใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกันการใช้งานในทางมิชอบ - กสม. ตรวจสอบกรณีฟาร์มไก่ใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น กระทบสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน แนะ อบต. กำกับดูแลแก้ไขปัญหา

05/04/2567 907

            วันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 13/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้ 

            1. กสม. เชื่อมีการใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกันการใช้งานในทางมิชอบ

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2564 ผู้ร้องได้รับอีเมลแจ้งเตือนจากบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อไอโฟน (iPhone) หรือ  บริษัท แอปเปิล ว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ร้องอาจถูกเจาะระบบเพื่อสอดแนมโดยผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐ ผู้ร้องจึงติดต่อไปยังองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในต่างประเทศเพื่อขอให้ตรวจสอบ และพบว่าระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ร้องถูกโจมตีโดยสปายแวร์ชื่อว่า “เพกาซัส (Pegasus)” ต่อเนื่องกัน 10 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 สปายแวร์ดังกล่าวผลิตขึ้นโดยบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป เทคโนโลยี จำกัด ที่ตั้งอยู่ในประเทศอิสราเอล ซึ่งบริษัทผู้ผลิตกำหนดเงื่อนไขว่าจะขายผลิตภัณฑ์ให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้น ทั้งนี้ จากการตรวจสอบวิธีการทางเทคนิคคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม พบว่ามีนักกิจกรรม นักการเมือง และนักวิชาการที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลอย่างน้อย 35 คน ถูกเจาะระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยสปายแวร์เพกาซัสเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ร้องเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชน จึงขอให้ตรวจสอบ
 
            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ประกอบด้วย ผู้ร้อง ผู้เสียหาย หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง พยานผู้เชี่ยวชาญ เอกสารงานวิจัย รวมทั้งหลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใด ๆ ของประชาชน ได้รับการบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในฐานะสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะทำได้เฉพาะแต่กรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น และต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วน
 
            ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า รายงานวิจัยที่จัดทำโดยห้องปฏิบัติการ Citizen Lab สังกัดมหาวิทยาลัย Toronto ประเทศแคนาดา ได้ระบุข้อค้นพบจากการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 มีผู้ถูกเจาะระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยสปายแวร์เพกาซัสในประเทศไทยอย่างน้อย 30 คน ประกอบด้วยนักกิจกรรม นักวิชาการ ผู้ที่ทำงานในองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงผู้ร้อง โดยข้อค้นพบที่ปรากฏนี้ได้รับการยืนยันผลการตรวจวิเคราะห์จากองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์อีกแห่งหนึ่งด้วย คือ ห้องปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่ามีการโจมตีด้วยสปายแวร์เพกาซัสต่อผู้ร้องและกลุ่มบุคคลดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญของ กสม. ที่ระบุว่าผลการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการ Citizen Lab นั้น มีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับเมื่อปี 2564 บริษัท แอปเปิล ได้ฟ้องบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ปฯ ในฐานะผู้พัฒนาสปายแวร์เพกาซัส โดยเรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้สปายแวร์เพกาซัสที่พุ่งเป้าการสอดแนมมายังผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของบริษัท แอปเปิล ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่บริษัท แอปเปิล ส่งอีเมลแจ้งเตือนผู้ร้องและผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของบริษัทรายอื่น ๆ ให้ระมัดระวังการถูกเจาะระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ รวมทั้งยังปรากฏด้วยว่านับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีการฟ้องร้องบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ปฯ เป็นคดีต่อศาลและมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาสอบสวนการใช้งานสปายแวร์เพกาซัสโดยมิชอบในประเทศต่าง ๆ อีกหลายกรณี นอกจากนี้

            ในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ยังได้เพิ่มรายชื่อบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป ฯ เข้าไปในบัญชีรายชื่อบริษัทที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ขัดต่อความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์ด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีหลักฐานว่ามีการจัดหาสปายแวร์ให้แก่รัฐบาลหลายประเทศ เพื่อใช้โจมตีไปยังเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้สื่อข่าว นักธุรกิจ นักกิจกรรม และนักวิชาการ ซึ่งส่งผลให้เกิดการปราบปรามผู้เห็นต่างโดยไม่จำกัดพรมแดน อันเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎระเบียบในทางระหว่างประเทศ
 
            เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงข้างต้น กสม. เห็นว่ากรณีตามคำร้องมีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีการใช้งานสปายแวร์เพกาซัสโจมตีระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อสอดแนมข้อมูลของผู้ร้อง รวมถึงนักกิจกรรม นักวิชาการ และผู้ที่ทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย ทั้งที่กลุ่มคนข้างต้นไม่เคยปรากฏข่าวว่ามีประวัติเข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการก่ออาชญากรรมที่มีความร้ายแรง เช่น การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ หรือการค้ายาเสพติด มีเพียงการถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อคัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา การเจาะระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อสอดแนมข้อมูลด้วยสปายแวร์เพกาซัส จึงเข้าข่ายเป็นการใช้งานโดยมิชอบและผิดวัตถุประสงค์ของการผลิตหรือพัฒนาสปายแวร์เพกาซัสขึ้นมา อีกทั้งยังถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของผู้ร้อง รวมถึงนักกิจกรรม นักวิชาการ และผู้ที่ทำงานในองค์กรภาคประชาสังคม และส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวและความกังวลต่อการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือการตรวจสอบ
การทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ อันเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพอื่น ๆ ของประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงด้วย
            แม้ข้อเท็จจริงตามคำร้องจะยังไม่มีพยานหลักฐานที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่าหน่วยงานของรัฐในประเทศไทยหน่วยงานใดเป็นผู้ใช้งานสปายแวร์เพกาซัสเจาะระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อสอดแนมข้อมูลของผู้ร้อง รวมถึงนักกิจกรรม นักวิชาการ และผู้ที่ทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อมูลบ่งชี้เกี่ยวกับบริบทแวดล้อม และความน่าจะเป็นต่าง ๆ ประกอบกัน เช่น นโยบายของบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป ฯ ที่จะขายสปายแวร์เพกาซัสให้แก่เฉพาะหน่วยงานของรัฐในประเทศต่าง ๆ เท่านั้น หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคำนึงถึงช่วงเวลาที่ผู้ร้องและผู้เสียหายอื่น ๆ ถูกโจมตีด้วยสปายแวร์ดังกล่าวว่ามักจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนมีการจัดกิจกรรมหรือการชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมทั้งเมื่อพิจารณาเอกสารประกอบการของบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการจัดหาระบบรวบรวมและประมวลผลข่าวกรองชั้นสูงของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมีข้อมูลการจัดซื้อระบบเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ในอดีต และระบบที่จะจัดหามาใช้งานใหม่มีคุณสมบัติในการส่ง Application Agent ไปติดตั้งบนโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยที่เป้าหมายไม่รู้ตัว คล้ายกับรูปแบบการเจาะระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์เคลื่อนที่เป้าหมายแบบไม่ต้องคลิก (Zero-click exploit) ที่เป็นคุณสมบัติเด่นของสปายแวร์เพกาซัส ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหน่วยงานของรัฐในประเทศไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานสปายแวร์เพกาซัสโจมตีเพื่อสอดแนมข้อมูลของนักกิจกรรม นักวิชาการ ผู้ที่ทำงานในองค์กรภาคประชาสังคม และผู้ร้อง
 
            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เห็นว่า เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากการใช้สปายแวร์เพกาซัสมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดการแสวงหามาตรการเยียวยาและการป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้ขึ้นอีก จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีความเหมาะสม เป็นอิสระ และโปร่งใส ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้งานสปายแวร์เพกาซัส สปายแวร์อื่น ๆ หรือเทคโนโลยีสอดแนมในลักษณะเดียวกันในทางที่อาจไม่เป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจ หรือไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยผู้ดำเนินมาตรการหรือปฏิบัติหน้าที่ในกลไกข้างต้นต้องมีอำนาจในการเรียกเอกสาร พยานหลักฐาน หรือเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับด้วย
 
                นอกจากนี้ให้ ครม. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาข้อมูล เพื่อให้มีกฎหมาย ระเบียบ แนวปฏิบัติ หรือกลไกในการกำกับ ควบคุม และตรวจสอบการใช้งานสปายแวร์หรือเทคโนโลยีสอดแนมของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันในการป้องกันไม่ให้มีการนำสปายแวร์หรือเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้งานในลักษณะที่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายหรือกลไกดังกล่าวให้กำชับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจใช้เทคโนโลยีสอดแนมให้ใช้งาน โดยถูกต้องตามกฎหมาย และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดด้วย
 
            2. กสม. ตรวจสอบกรณีฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อในพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น ส่งผลกระทบต่อสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน แนะ อบต. สัมปทวน กำกับดูแลแก้ไขปัญหา

               นายจุมพล  ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และก่อให้เกิดปัญหามลพิษรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่มานานหลายปี เช่น เป็นแหล่งกำเนิดแมลงวันจำนวนมาก มีปัญหากลิ่นเหม็น และฝุ่นละออง เป็นต้น ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเคยร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอนครชัยศรีเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการแก้ไขให้ปัญหาหมดสิ้นไป จึงขอให้ตรวจสอบ
 
               กสม. พิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 (2) รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการจัดการและบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครอง บำรุงรักษา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนตามมาตรา 57 (2) และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5 รับรองสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้ออกข้อมติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 รับรองให้สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนหรือสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (right to a healthy environment) เป็นสิทธิมนุษยชน ด้วย
 
            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อในพื้นที่ตำบลสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากองค์การบริหารส่วนตำบลสัมปทวน (อบต. สัมปทวน) และได้รับการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการไปจนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 โดยผู้ร้อง ผู้เสียหาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ข้อเท็จจริงสอดคล้องตรงกันว่า การประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อของผู้ถูกร้องส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงเป็นเวลานานหลายปี โดยเฉพาะปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนและแมลงวัน และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวเนื่องด้วยสภาพอากาศปิด นอกจากนี้ โรงเรือนเลี้ยงไก่ยังมีสภาพเก่า บางโรงเรือนชำรุดทรุดโทรม แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหามลพิษและให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกร้อง และผู้ถูกร้องได้พยายามบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ใช้แกลบเป็นวัสดุรองพื้นโรงเรือนเพื่อดูดซับมูลและปัสสาวะไก่ ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ใช้สารเคมีกำจัดหนอนแมลงวันและแมลงวันตัวเต็มวัยในโรงเรือน แจกกาวดักแมลงวันให้แก่ประชาชน ปลูกต้นไม้บริเวณรอบฟาร์มเพื่อดูดซับกลิ่นและป้องกันฝุ่นละออง อีกทั้งได้ลดจำนวนไก่ที่เลี้ยงลงเพื่อลดผลกระทบด้านมลพิษ แล้ว แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง
 
            เมื่อพิจารณาผลการตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นจากการประกอบกิจการเลี้ยงไก่เนื้อของผู้ถูกร้องโดยกรมควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนด จึงเชื่อได้ว่ามาตรการจัดการกลิ่นของโรงเลี้ยงไก่ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็นซึ่งส่วนใหญ่
เกิดจากการสะสมหมักหมมของมูลไก่ และปัญหาแมลงวัน ได้รับการแก้ไขได้ทั้งหมด จึงถือได้ว่าการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนเป็นเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และไม่สอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 จึงมีมติเห็นควรมีเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายต่อผู้ถูกร้องและองค์การบริหารส่วนตำบลสัมปทวน สรุปได้ดังนี้
 
            (1) ให้ผู้ถูกร้อง นำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) มาใช้ในการประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ โดยประกาศเป็นนโยบาย กำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและใช้บังคับอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ เช่น การแจ้งให้ อบต. สัมปทวน ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับวันเวลาที่จะจับไก่ เพื่อให้ประชาชนเตรียมการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงกลิ่นเหม็น แมลงวัน และฝุ่นละออง และการกำหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนรับรู้ เป็นต้น
 
            (2) ให้ อบต. สัมปทวน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ออกคำสั่งให้ผู้ถูกร้องปรับปรุงสภาพโรงเรือนที่ชำรุดทรุดโทรมและจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษทุกกระบวนการให้ดีขึ้น ได้แก่ การเลี้ยงไก่ การเปิดโรงเรือนเพื่อจับไก่ การเคลื่อนย้ายไก่และซากไก่ การขนถ่ายมูลไก่ และกิจกรรมอื่นที่อาจก่อให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นและแมลงวัน และติดตามการดำเนินการของผู้ถูกร้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ให้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการเลี้ยงสัตว์ปีกโดยเฉพาะ โดยกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน และมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดตั้งฟาร์ม การขออนุญาตประกอบกิจการ ตลอดจนการประกอบกิจการ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน นอกจากนี้ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวด 5 ในการระงับ จำกัด หรือควบคุมเหตุรำคาญอันเกิดจากการประกอบกิจการของผู้ถูกร้องอย่างเคร่งครัด โดยในการพิจารณาต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรประสานหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยในพื้นที่เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาต่อใบอนุญาตให้แก่ผู้ถูกร้องทุกครั้ง
 
            ทั้งนี้ ให้อำเภอนครชัยศรีขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกลิ่นเหม็นรบกวนจากฟาร์มไก่ในเชิงรุก อาทิ วางแผนการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เข้าตรวจฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเป็นระยะอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับปรุงโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอด้วย


 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
5 เมษายน 2567  

 

05/04/2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน