กสม. ตั้ง “8 กรอบ 36 ประเด็น” รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เตรียมทดลองตรวจเยี่ยม “เรือนจำ” เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง .

07/04/2567 869

         วันที่ 4 – 5 เมษายน 2567 กรุงเทพฯ – คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดรับฟังความเห็นผู้แทนฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายมาตรฐานนโยบายด้านราชทัณฑ์ และผู้แทนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ จาก 13 หน่วย เพื่อพัฒนาเครื่องมือและมาตรฐานการตรวจเยี่ยมเรือนจำ โดยเริ่มต้นเดินเครื่องทดลองตรวจเยี่ยม “เรือนจำ” ในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะปรับปรุง และใช้เป็นเครื่องมือการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกันการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำทั่วประเทศ

          นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงในตอนต้นของการรับฟังความเห็น ว่า เครื่องมือนี้เป็นเสมือนกรอบประเด็น (checklist) ในการตรวจเยี่ยม มิใช่ “การประเมิน” และการตรวจเยี่ยมในที่นี้ เน้นบทบาทเชิงป้องกันด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ มิใช่การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามการร้องเรียน แต่อย่างใด
 
          ทั้งนี้ (ร่าง) เครื่องมือการตรวจเยี่ยมเรือนจำ ตามมาตรฐานอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และพิธีสารที่เกี่ยวข้อง เป็นผลผลิตที่จัดทำขึ้นจากชุดโครงการวิจัยที่ กสม. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐาน และระบบการป้องกันคุ้มครองและเยียวยา ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) กระบวนการพัฒนาเครื่องมือ เริ่มจากการนำหลักการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาพิจารณาเชิงมาตรฐาน และประมวล พร้อมกับการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยก้าวพลาด ผู้ปฏิบัติงาน ผู้จัดทำนโยบาย และ/หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและหว่างประเทศ
 
          โดยเบื้องต้น แบ่งเป็น 8 กรอบ 36 ประเด็น ซึ่งพัฒนาจากเอกสารข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลา (ข้อกำหนดแมนเดลลา หรือ Mandela Rules) และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Rules) นำมาเทียบเคียงกับมาตรฐานและบทบัญญัติที่อยู่ทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ อนุสัญญา CAT พิธีสารเลือกรับ OPCAT พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
 
          เครื่องมือ นำเสนอองค์ประกอบหลักใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ความเป็นมา วิธีการทำงานตรวจเยี่ยม องค์ประกอบของคณะผู้ตรวจเยี่ยม (ทีมสหวิชาชีพ อาทิ แพทย์/พยาบาล วิศวกร นักกฎหมาย นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น) และ ส่วนที่สอง กระบวนการตรวจเยี่ยม โดยการใช้แนวทาง “สามเส้า (tri-angulation)” ในการสมดุลข้อมูล ทั้งจากการสัมภาษณ์ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ต้องขัง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพิจารณาเอกสารข้อมูลต่าง ๆ โดยลดหรือเลี่ยงการใช้ข้อมูลแบบอัตวิสัย (subjectivity) และเน้นการใช้ข้อมูลแบบภววิสัย (objectivity) เป็นหลัก โดยผลผลิตสุดท้ายของการตรวจเยี่ยม คือ การนำเสนอความเห็นในการปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยรับตรวจ และหน่วยนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
          นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการ กสม. กล่าวเสริมรายละเอียดว่า เป้าหมายของการจัดทำเครื่องมือโดยภาพรวม จะนำมาปรับใช้ในการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกันในสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ (deprivation of liberty) ที่เข้าข่ายเป็นสถานที่ควบคุมตัว ภายใต้การดำเนินงานหรือการกำกับของรัฐ เช่น สถานีตำรวจ โรงพัก ห้องขัง เรือนจำ สถานที่ควบคุมตัวของทหาร พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน สถาบันจิตเวช และสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางหรือผู้ด้อยโอกาส โดยเป็นไปตามหน้าที่ของ กสม. โดยตรง และนำหลักการ “การป้องกันไม่เกิดอันตราย หรือความเจ็บปวดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (Do No Harm)” มาปรับใช้พัฒนาเครื่องมืออย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักการ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
          ในการตรวจเยี่ยมมีขั้นตอนการจัดก็บข้อมูล หลักฐาน และมาใช้เทียบเคียงกับมาตรฐาน โดยการตรวจแต่ละครั้ง จะหารือแนวทางการตรวจ และสรุปข้อค้นพบกับหน่วยรับตรวจโดยตรง เพื่อเสนอให้พิจารณาปรับปรุงมาตรฐาน และ กสม. นำผลการตรวจหลาย ๆ ครั้ง มาประมวลผลจัดทำข้อเสนอในเชิงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน กายภาพ กระบวนการ ผลผลิต ผลลัพธ์ รวมถึงระบบ โครงสร้างเชิงสถาบัน กฎหมาย และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
          ในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายมาตรฐานนโยบายด้านราชทัณฑ์ และผู้แทนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ จาก 13 หน่วย ได้ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงทั้งรูปแบบ วิธีการ การเก็บข้อมูล/หลักฐาน และประเด็นซักถามเพิ่มเติม เพื่อให้เครื่องมือและกระบวนการ มีความละเอียดอ่อน สอดคล้อง และเหมาะสมกับบริบทและการปฏิบัติงานจริงตามมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเกิดประโยชน์สำหรับใช้ป้องกันการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในเรือนจำ ในประเทศไทย ได้อย่างแท้จริง
 
          ทั้งนี้ ภายหลังจากการพัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือและกระบวนการดังกล่าวแล้ว กสม. จะเริ่มต้นทดลอง (tryout) เครื่องมือดังกล่าว ในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และดำเนินการปรับปรุง เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกันการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศ ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน