ที่ปรึกษาประจำ กสม. ร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1/2567

05/04/2567 847

          ระหว่างวันที่ 3 - 4 เมษายน 2567 นางรัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Technical Working Group of the South East Asia National Human Rights Institutions Forum: TWG SEANF) ครั้งที่ 1/2567 ณ โรงแรม Ramelau กรุงดิลี ประเทศติมอร์ – เลสเต
 
          โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต หรือ PDHJ เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมในฐานะประธาน SEANF ปี 2567 สมาชิก SEANF ที่เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อินโดนีเซีย (Komnas HAM)  ผู้แทน กสม. มาเลเซีย (SUHAKAM) ผู้แทน กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) ประธาน PDHJ ผู้แทน กสม. ไทย และผู้แทน กสม. เมียนมา (MNHRC) ซึ่งเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
 
          1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญหลังการประชุมประจำปี SEANF ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566
 
          2. การแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF พ.ศ. 2565-2569     
- ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการปฏิบัติตามแผนป้องกันการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ของ กสม. ไทยซึ่งมีบทบาทนำในประเด็นยุทธศาสตร์นี้ รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการของสมาชิกอื่น ๆ ซึ่งจะนำข้อมูลการดำเนินการไปจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการการป้องกันการทรมานของตน และจะจัดส่งให้ กสม. ไทย ก่อนประชุม TWG ครั้งที่ 2/67 ต่อไป
- ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการหารือผ่านระบบ on line เรื่องการแก้ไขข้อบังคับการดำเนินงานของ SEANF (ROP) ก่อนการประชุม TWG ครั้งที่ 2
 
          3. การจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง SEANF กับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ซึ่ง กสม.ไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคืบหน้าในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เรื่อง Regional Workshop: Sharing Good Practices on Business and Human Rights and Enhancing Access to Remedy for Migrant Workers in ASEAN ซึ่งคาดว่าจะจัดในเดือนกันยายน 2567 และกิจกรรมระหว่าง กสม. ไทยกับ AICHR Thailand และภาคีเครือข่าย ในการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม (ASEAN declaration on environmental rights) ในวันที่ 25-26 เมษายน 2567
 
          4. การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน โดย Komnas HAM และ PDHJ
 
          5. การนำเสนอแนวทางความร่วมมือในการส่งตัวนักโทษหรือผู้ต้องหากลับประเทศต้นทาง โดย SUHAKAM
 
          6. การพิจารณาข้อเสนอในการจัดทำแถลงการณ์ร่วมของ SEANF ต่อการจัดทำร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อม การรับทราบข้อเสนอเพื่อทบทวนแนวทางในการจัดตั้งกลไกการไต่สวนระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Inter-NHRI Inquiry Mechanism – INIM) และการรับทราบความคืบหน้าในการประชุมของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยผู้สูงอายุ (UN Opened-ended Working Group on Ageing) สมัยที่ 14 นำเสนอโดย CHRP
 
          7.การปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 องค์กร ได้แก่ การนำเสนอประเด็นบุคคลสูญหายและการลักพาตัวเด็ก โดย Centro Nacional Chega (CNC) และ Asia Justice and Rights (AJAR) และการนำเสนอในประเด็นสิทธิดิจิทัล (Digital Rights) โดย American Bar Association Rule of Law Initiative (ABA LORI)
 
          8. การเตรียมการประชุม TWG SEANF ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งคาดว่าจะจัดช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกรกฎาคม 2567 และการประชุมประจำปี SEANF ครั้งที่ 21 ซึ่งคาดว่าจะจัดช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน 2567

เลื่อนขึ้นด้านบน