กสม. ร่วมกับ ตร. พัฒนา ขับเคลื่อน และยกระดับ “โรงพักต้นแบบ”

04/04/2567 839

          เพื่อป้องกันการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
 
          เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่จังหวัดขอนแก่น – คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ร่วมกับผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย พล.ต.ต.วิทยา  เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา (คด.) และ พ.ต.อ. น้ำเพชร  ทรัพย์อุดม รองผู้บังคับการ คด. สำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) ได้ร่วมกันสำรวจสถานีตำรวจในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยน และรับฟังข้อมูลจากผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัด (ภ.จว.) และสถานีตำรวจภูธร 30 แห่งใน จ.ขอนแก่น รวมถึงติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสิทธิมนุษยชนประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมใน 3 ส่วนหลัก คือ (1) การคัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากร (2) การตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีที่ล่าช้า และ (3) การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ได้ร่วมกันสำรวจสถานีตำรวจ 2 แห่ง ได้แก่ สภ.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น (จัดตั้งใหม่และอยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่) และ สภ.พล อ.พล (สถานีตำรวจขนาดใหญ่และมีการปรับปรุงมาตรฐานตัวอย่างที่ดี) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานของสถานีตำรวจตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
 
          นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในช่วงแลกเปลี่ยนกับ ภ.จว. และ สภ.ทั้ง 30 แห่งใน จ.ขอนแก่น รวมถึง 2 สถานีตำรวจ ว่า “หลังจากการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลจากเรื่องร้องเรียนที่ กสม. ได้รับ จึงได้ออกแบบการทำงานในประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยให้ความสำคัญกับการทำงานกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร ตั้งแต่การรับแจ้งความ การจับกุม การคุมขัง การออกหมายอาญา การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และการเร่งรัดดำเนินคดี โดยได้รับความร่วมมือและติดตามการทำงานกับ ตร. จนสร้างการเปลี่ยนแปลงใน 2 เรื่องหลัก คือ (1) การคัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากร โดยส่งผลให้ผู้ที่เคยก้าวพลาดในโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่า 13 ล้านคน ได้รับการแยกทะเบียนประวัติ ในขณะที่มีการติดตามเฉพาะส่วนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายหรือเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมเท่านั้น และ (2) การตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีที่ล่าช้า
 
          ทั้งนี้  ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 กสม. เห็นว่า ตร. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันการกระทำทรมานตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น จึงร่วมมือกับ ตร. สำรวจสถานีตำรวจเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นธาร โดยผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คือ ตร. จะนำไปจัดทำแผนการพัฒนากระบวนการที่เหมาะสม และ กสม. จะจัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อปรับปรุงการทำงานของสถานีตำรวจที่จะนำไปสู่การป้องกันการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งจะเสริมการทำงานระหว่างกันต่อไป”
พล.ต.ต.วิทยา เย็นจิตต์ ผู้แทน ตร. ย้ำความสำคัญของการดำเนินงานและรูปธรรมการทำงานดำเนินงานที่ ตร. จัดทำ ใน 2 เรื่อง คือ (1) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ซึ่ง ตร. ได้ดำเนินการแล้วทั้งการจัดทำระบบรับแจ้งความออนไลน์ หรือการรับแจ้งความต่างท้องที่ ซึ่ง กสม. ได้เสนอแนะให้ ตร. จัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจและการสำรวจพื้นที่สถานีตำรวจ อันนำมาสู่การดำเนินงานในครั้งนี้ และ (2) การแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดโดยพนักงานสอบสวน ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 138/2567 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งทั้งสองเรื่องมีส่วนช่วยพัฒนาสถานที่ลิดรอนเสรีภาพของบุคคลเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ซึ่งครอบคลุมถึงห้องควบคุมตัวของสถานีตำรวจต่าง ๆ ทั่วประเทศ
 
          ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ คณะผู้แทนจาก กสม. และ ตร. ได้เข้าสำรวจ ทำความเข้าใจ และสัมภาษณ์ผู้กำกับการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประชาชนที่มาติดต่อราชการ และผู้ต้องหาใน สภ.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น และ สภ.พล อ.พล ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ มิติที่หนึ่ง โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รับผิดชอบ จำนวนผู้ปฏิบัติงาน จำนวนและประเภทคดี มิติที่สอง กระบวนการปฏิบัติงาน และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมิติที่สาม แนวทางการปรับปรุงการทำงานของสถานีตำรวจตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
 
          โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กสม. ได้จัดทำแผนการสำรวจพื้นที่สถานีตำรวจเพิ่มเติมอีก 3 ภูมิภาค คือ ภาคใต้ (จังหวัดสงขลาและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2567) ภาคเหนือ (จังหวัดพะเยา และพื้นที่ใกล้เคียง) และภาคกลาง (อยู่ระหว่างการกำหนดเวลา) ก่อนที่จะประมวลข้อค้นพบในสามมิติข้างต้นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการทำงานของสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน