กสม. เตรียมเปิดตัวคู่มือการจัดการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับทุกภาคส่วนในสังคม

14/12/2562 103

            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เร่งขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เป็นระบบและบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สังคมไทยรับรู้ เข้าใจ เท่าทันเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเริ่มจัดทำคู่มือจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 ช่วงชั้น สำหรับนักเรียนระดับปฐมวัย ประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งนักเรียนทั่วประเทศจะได้เรียนรู้สิทธิมนุษยชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น  ฉันรู้จักหน้าที่ตัวเอง ฮีโร่น้อย หนูน้อยนักอาสา หนูน้อยพัฒนาชุมชน วิถีประชาธิปไตยในครอบครัว การยอมรับความคิดที่แตกต่าง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาและมีส่วนร่วม สิทธิมนุษยชนกับโลกออนไลน์ เพศศึกษาในวัยเรียน แนวทางการช่วยเหลือผู้อื่นจากการละเมิดสิทธิ แผ่นดินเดียวกัน โรงเรียนในฝัน เสียงที่ไม่ได้ยิน การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม แนวทางการสร้างสันติภาพและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น นอกจากนี้ กสม. จะเปิดตัวหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับ กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายรวม 4 หลักสูตร ได้แก่                          
            1) หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาพื้นฐาน สำหรับฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐ นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป                                                                       
            2) หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้พิพากษา พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้ง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง                                                                      
            3) หลักสูตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง (Human Rights Executive Program) เพื่อให้นักบริหารระดับสูงนำความรู้ไปขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนสร้างแนวปฏิบัติให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนแก่บุคคลในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียในสังคม
            4) หลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อให้เห็นประโยชน์ ตระหนักถึงความสำคัญ และเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน         
            ทั้งนี้ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะประธานคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า การจัดทำคู่มือการสอนสิทธิมนุษยชนสำหรับเด็กและเยาวชนและหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษา เกิดจากการร่วมมือกับ ทีมผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และบุคลากรจาก มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 คู่มือและหลักสูตรดังกล่าวนี้ ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562โดยเห็นควรเสนอแนะคู่มือและหลักสูตรไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนต่อไป อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะได้จัดสัมมนาวิชาการเผยแพร่และการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษาในสังคมไทย ในช่วงเดือนมกราคม 2563 เพื่อเปิดตัวคู่มือและหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมา โดยจะมีการเชิญผู้แทนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ตลอดจนสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม มาร่วมงานและสนับสนุนให้มีการนำไปขับเคลื่อนเพื่อเป็นการผนึกกำลังอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์วัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
 

14/12/2562

เลื่อนขึ้นด้านบน