“กสม. ฉัตรสุดา” หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุ้มครองสิทธิคนพิการ ในเรื่องการศึกษา การทำงาน และการใช้สิทธิเลือกตั้ง

30/10/2562 1118

                วันที่ 30 ตุลาคม 2562 นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข เปิดเผยถึงการประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องต่อแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนพิการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า สถานการณ์การเข้าถึงสิทธิของคนพิการในปัจจุบันยังมีความน่าเป็นห่วงในหลายประเด็น ทั้งการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา สิทธิในการประกอบอาชีพ และสิทธิในการเลือกตั้ง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
                1. สิทธิการศึกษาของคนพิการ พบว่า ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนที่ดูแลคนพิการเฉพาะทั่วประเทศให้ครอบคลุมเด็กพิการทุกระดับ เนื่องจากมีจำนวนบุคลากรทางการศึกษาพิเศษไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้เด็กพิการไม่สามารถเข้าศึกษาในโรงเรียนเฉพาะได้ทุกคน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในการจ้างครูดูแลเด็กพิการตามบ้านที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ และการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กพิการในสถานศึกษา อีกทั้งเมื่อได้รับทราบถึงแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะลดจำนวนครูอัตราจ้าง จึงมีความห่วงกังวลว่าแนวนโยบายดังกล่าวอาจผลกระทบต่อสิทธิทางการศึกษาของคนพิการ ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD) พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (2) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 10 และพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 มาตรา 5 ซึ่งมีสาระคุ้มครองสิทธิของคนพิการในการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาเพียงเพราะเหตุแห่งความพิการ โดยรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาแก่คนพิการ
                ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว ได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเสนอให้เพิ่มค่าตอบแทนพิเศษต่อบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ เพิ่มอัตราจ้างครูให้สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนในแต่ละสถานศึกษา รวมถึงกำหนดให้มีครูทางการศึกษาพิเศษประจำโรงเรียน และเห็นควรกำหนดหลักสูตรการศึกษาพิเศษเป็นวิชาภาคบังคับ เพื่อเป็นการยืนยันได้ว่าบุคลากรครูทุกคนต้องผ่านการอบรมเรื่องการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการด้วย
                2. สิทธิแรงงานของคนพิการ พบว่า ปัจจุบันยังมีการจ้างงานคนพิการที่ต่ำ เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ พ.ศ. 2550 ได้เปิดโอกาสให้นายจ้างหรือสถานประกอบการจ่ายเงินสมทบกองทุนคนพิการแทนการจ้างงาน ตามมาตรา 34 หรือเปิดโอกาสให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีการพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ ตามมาตรา 35 จึงส่งผลให้นายจ้างหรือสถานประกอบการเลือกแนวทางดังกล่าวแทนการจ้างงานคนพิการ อันกระทบต่อสิทธิการทำงานของคนพิการตามอนุสัญญา CRPD โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระบุว่า ปัจจุบันมีคนพิการในวัยทำงาน (อายุ 15 – 60 ปี) ที่เข้าสู่ระบบแรงงานอยู่เพียง 800,000 คน จากจำนวนทั้งหมด 2,000,000 คน และมีเพียงจำนวน 100,000 คนที่เข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้สนับสนุนให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการแทนการจ่ายเงินสมทบตามมาตรา 34 หรือ จ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 ส่งผลให้คนพิการได้รับการจ้างงานมากขึ้น
                3. สิทธิการเลือกตั้งของคนพิการ พบว่า จากการใช้สิทธิเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 มีคนพิการที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 753 คน จากจำนวนประมาณ 1,800,000 คน ที่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยปัญหาส่วนใหญ่มาจากปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 92 จะกำหนดให้มีการอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ แต่ในทางปฏิบัติ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และคนพิการบางส่วน ยังไม่ทราบถึงกฎหมายดังกล่าวเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่หรือคนพิการไม่มีความมั่นใจที่จะมอบหมายบุคคลอื่นหรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้ลงคะแนนแทน โดยความยินยอมนั้นจะลงคะแนนให้เป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ร้อยละ 85 ของหน่วยเลือกตั้งได้จัดการเข้าถึงและการอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ รวมถึงเริ่มมีการจัดยานพาหนะให้คนพิการมายังหน่วยเลือกตั้ง ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นอันส่งผลต่อสิทธิในการเลือกตั้งของคนพิการจึงอาจมาจากการประชาสัมพันธ์ให้คนพิการรับทราบถึงสิทธิที่ตนพึงมีโดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ครอบคลุมคนพิการในทุกรูบแบบ
                “แม้ปัจจุบันคนพิการจะยังประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา การประกอบอาชีพ และการเลือกตั้งในมิติต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีแนวทางและความตั้งใจอันดีในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนสิทธิของคนพิการในทุกรูปแบบ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาให้แก่คนพิการจำต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความยินดีที่จะเป็นองค์กรกลางในการประสานความร่วมมือนั้น เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและได้รับโอกาสทัดเทียมกับบุคคลอื่นในสังคมตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล” นางฉัตรสุดา กล่าว
 

30/10/2562

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน