ประธาน กสม. และ กสม.ประกายรัตน์ แถลงข่าวชี้แจงสถานะของ กสม. และขั้นตอนการทำงานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลังจาก กสม. ๒ คนลาออก

31/07/2562 108

ประธาน กสม. และ กสม.ประกายรัตน์ แถลงข่าวชี้แจงสถานะของ กสม. และขั้นตอนการทำงานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลังจาก กสม. ๒ คนลาออก
 


                วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๔๕ น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังนางอังคณา นีละไพจิตร และนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๙.๓๐ น.
                นายวัส กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องการลาออกเมื่อเช้าวันนี้ (๓๑ กรกฎาคม) ตนได้แจ้งเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ยกเลิกการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครอง ที่จะมีขึ้นในเวลา ๙.๓๐ น. เนื่องจาก กสม. เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จากนั้นในเวลา ๙.๔๕ น. สำนักงาน กสม. ได้เชิญตนและนางประกายรัตน์ เข้าร่วมประชุมกับสำนักงานฯ
ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารสำนักงานฯ ตั้งแต่เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมรับฟังสถานการณ์และข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
                นายวัส กล่าวว่า กสม. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ และเป็นองค์กรกลุ่มในลักษณะเดียวกับองค์กรอิสระอื่นอีกหลายองค์กร ซึ่งทุกท่านมีที่มาแตกต่างกันและมีความคิดที่หลากหลาย อันเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย และเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานขององค์กรกลุ่มที่ย่อมมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ทุกคนต้องเคารพเหตุผลซึ่งกันและกัน ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องเคารพมติเสียงข้างมากเมื่อมีการลงมติตามกฎหมาย 
                นายวัส กล่าวว่า ยอมรับว่าการทำงานภายใต้กติการัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะผู้ที่ยกร่างได้วางบทบาทหน้าที่และอำนาจของ กสม. ทั้งจากหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน และหน้าที่ที่เกินกว่าสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพึงกระทำ อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้นำองค์กรกลุ่มก็ได้พยายามประสาน กสม. ทุกคนให้สามารถทำหน้าที่ได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหวังให้ กสม. ช่วยสร้างความผาสุกให้กับประชาชนชาวไทยและคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสำคัญด้วย ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำงานภายใต้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พ.ร.ป. กสม.) พ.ศ. ๒๕๖๐ และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทยอยออกตามมาด้วย เช่น ระเบียบ กสม. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. ๒๕๖๑  
                ประธาน กสม. กล่าวว่า เคารพการตัดสินใจของอดีต กสม. ที่ลาออกไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด อย่างไรก็ตาม สถานะของ กสม.ชุดที่ ๓ ทั้ง ๖ คนได้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.ป.กสม. นี้ใช้บังคับ คือ วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๐ ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป. กสม. (มาตรา ๖๐) แต่กระนั้น บทเฉพาะกาลมาตราดังกล่าวยังให้ กสม. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธาน กสม. และ กสม. ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และในชั้นนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. ซึ่งเมื่อได้รายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งแล้วก็จะส่งให้วุฒิสภาดำเนินการต่อไป 
                ส่วนที่มีข้อสังเกตว่า การลาออกของ กสม. ๒ ท่าน จะทำให้ กสม. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น นายวัส กล่าวว่า บทเฉพาะกาลมาตรา ๖๐ วรรคสาม บัญญัติว่า กรณีมีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความในมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมาตรา ๒๒ กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวให้ครบ ๗ คน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จนกว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน และภายในวันนี้ (๓๑ กรกฎาคม) ตนจะลงนามในหนังสือถึงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๒ ต่อไป
 

31/07/2562

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน