กสม. จัดงานประกาศเกียรติยศ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประจำปี ๖๒ เนื่องในวันสตรีสากล เรียกร้องคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ถูกฟ้องกลั่นแกล้งจากการต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

07/03/2562 107

                วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๒ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดงานวันสตรีสากล ๘ มีนาคม และการประกาศเกียรติยศ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประจำปี ๒๕๖๒ โดยมี นางอังคณา นีละไพจิตร และนางเตือนใจ  ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมมอบรางวัลประกาศเกียรติยศ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
                นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า หลายปีที่ผ่านมาในประเทศไทยมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนทั้งหญิงและชายถูกสังหาร ถูกอุ้มหาย ถูกทำร้าย หรือถูกคุกคาม รวมถึงการคุกคามทางเพศ ซึ่งส่วนมากรัฐไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ และบ่อยครั้งที่มีการนำเรื่องเพศสภาพมาลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ แต่ในปัจจุบันรูปแบบการคุกคามได้เปลี่ยนไป นักปกป้องสิทธิฯ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงมักเผชิญการคุกคามทางกฎหมาย โดยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะที่เป็นการฟ้องร้องเพื่อปิดปากหรือฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้ง ดังที่เรียกกันว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation - SLAPP) ” มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในฐานะที่พวกเธอเป็นแม่ ภรรยา และลูก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหากปล่อยให้มีการฟ้องร้องเช่นนี้มากขึ้น จะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าที่สำคัญของหลักประชาธิปไตย คือ คุณค่าของการคุ้มครองและการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสเพื่อประโยชน์สาธารณะ
                        นางอังคณา กล่าวต่อว่า ในโอกาสวันสตรีสากล ตนในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ตระหนักถึงคุณค่าของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ทุกคน จึงเห็นควรยกย่อง เชิดชู ผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัด เรื่องราวความกล้าหาญของพวกเธอจากการสร้างคุณูปการแก่สังคมในการทำให้เกิดกลไกการคุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในวันนี้จะเป็นแบบอย่างที่คนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้และจดจำต่อไป
                รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง  ศรีสนิท รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา เรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” สรุปว่าขอชื่นชมผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ทุกคนที่ได้ใช้ความรู้ ความกล้าหาญในการปกป้องสิทธิของผู้อื่นสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคมโลกและสังคมไทย โดยในบรรดาสิทธิทั้งหลาย อยากเชิญชวนให้ทุกท่านให้ความสำคัญคือ “สิทธิเด็ดขาด” หรือ “สิทธิที่ไม่อาจถูกพรากไปได้” ซึ่งหมายถึง สิทธิที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด โดยที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะมาละเมิดสิทธิเหล่านี้ของประชาชนไม่ได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดอันเป็นสิทธิสำคัญที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ ๔ กำหนดไว้ ได้แก่ สิทธิที่จะไม่ถูกทำให้เสียชีวิตนอกกฎหมาย  สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้สูญหาย สิทธิที่จะไม่ถูกเอาเป็นทาสหรือถูกปฏิบัติอย่างทาส สิทธิที่จะไม่ถูกจำคุกเพียงเพราะไม่มีเงินชำระหนี้ สิทธิที่จะไม่ถูกกฎหมายให้โทษย้อนหลัง และสิทธิในความคิดความเชื่อทางศาสนา
                นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้ช่วยเหลือประชาชนในการคุ้มครองสิทธิเด็ดขาดและสิทธิด้านต่าง ๆ ในปัจจุบันล้วนต้องประสบกับภัยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเผชิญกับการคุกคามแบบใหม่ คือ การถูกฟ้องเพื่อปิดปาก (SLAPP) ในคดีอาญาและคดีแพ่ง เช่น การฟ้องหมิ่นประมาท เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของนักปกป้องสิทธิฯ อย่างไรก็ดี ในทางกฎหมายยังมีทางออกให้แก่นักปกป้องสิทธิฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๓) ให้หลักว่า ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หากเพื่อประโยชน์สาธารณะให้ถือว่าไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท 
                นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ได้มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา ๑๖๕ วรรค ๒ ที่แก้ไขใหม่ โดยมีสาระว่า ในกรณีที่โจทก์ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือทุนมาฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิฯ จากเดิมในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจะฟังพยานหลักฐานจากฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียว โดยนักปกป้องสิทธิฯ ในฐานะจำเลยไม่สามารถนำพยานหลักฐานขึ้นต่อสู้ได้ ซึ่งเมื่อศาลประทับรับฟ้อง และมีการออกหมายจับ จำเลยจะต้องรอประกันตัวในภายหลัง แต่กฎหมายใหม่แก้ไขมาตราดังกล่าวให้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์และจำเลยสามารถยื่นพยานหลักฐานได้เช่นเดียวกัน โดยจำเลยอาจต่อสู้ว่าความเห็นหรือข้อมูลที่ได้แสดงต่อสาธารณะเป็นไปโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามหลักประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๓) และขอให้ศาลยกฟ้องได้  ซึ่งจะเป็นทางออกหนึ่งในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกลไกของกฎหมาย 
                        Ms. Katia Chirizzi รองผู้แทนภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับนักปกป้องสิทธิฯ ที่เป็นผู้ชายแล้ว ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เผชิญกับความท้าทายที่มีพื้นฐานทางเพศสภาพ รวมทั้งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเผชิญกับอคติ การกีดกัน การตีตราจากบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนการเหมารวมต่อบทบาทและสถานภาพของผู้หญิงในสังคม โดยในบรรดาผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติในวันนี้ หลายคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยรัฐและทุน ซึ่งถือเป็นโชคร้ายที่กระบวนการยุติธรรมได้ถูกใช้เพื่อทำร้ายหรือคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ ตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ รวมทั้งนักปกป้องสิทธิฯ ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยพร้อมที่จะสนับสนุนพวกเธอเหล่านี้ในทุกวิถีทางต่อไป
                อนึ่ง ผู้ได้รับการประกาศเกียรติยศ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประจำปี ๒๕๖๒ นี้ประกอบด้วย (๑) เครือข่ายผู้หญิงกลุ่มรักษ์น้ำอูน ผู้ปกป้องสิทธิชุมชนจากผลกระทบของโครงการสร้างโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสกลนคร (๒) เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ผู้ต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจากวัฒนธรรมความเชื่อท้องถิ่น (๓) เครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ทำงานในประเด็นการยุติความรุนแรงในครอบครัว (๔) มูลนิธิผู้หญิง องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิและการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงพม่ามุสลิม (๕) นางสาวสุธาสินี  แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และ (๖) นางพะเยาว์  อัคฮาด แม่ผู้เรียกร้องความยุติธรรมสำหรับเหยื่อรวมทั้งลูกสาวของเธอเองที่ถูกสังหารในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๓ ทั้งนี้ ผู้ได้รับการประกาศเกียรติยศ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประจำปีนี้ได้ร่วมกันอภิปรายถอดบทเรียนจากประสบการณ์การต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเวทีดังกล่าวด้วย
 

07/03/2562

เลื่อนขึ้นด้านบน