กสม. แนะรัฐบาลกำหนด “พาราควอต” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง - วางมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน

10/02/2562 165

            วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒  นายวัส ติงสมิตร  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ตรวจสอบการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอต (paraquat) ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อาจมีการประกาศห้ามใช้ และขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ที่ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เนื่องจากเป็นสารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดภาวะอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน นั้น
            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอกสารทางวิชาการ ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ พยานผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนข้อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นว่า แม้การดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรจะเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่การใช้พาราควอตเป็นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในภาคการเกษตรนั้น เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าพาราควอตมีความเป็นพิษโดยตัวของสารเคมีและการใช้พาราควอตในภาคการเกษตรมีความเกี่ยวพันโดยตรงต่อสุขภาพอนามัย และวิถีชีวิตของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัยและได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นจริงจากอันตรายของพาราควอต รวมถึงสารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่นด้วย เช่น ไกลโฟเสต (สารกำจัดวัชพืช) และคลอร์ไพรีฟอส (สารเคมีกำจัดแมลง) เป็นต้น อีกทั้งรัฐต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าการใช้สารเคมีดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันต้องช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างปลอดภัย ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพสูง ด้วยการพัฒนาเกษตรอินทรีย์และ/หรือเทคโนโลยีชีวภาพแทนการใช้สารเคมี
            นายวัส กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้การใช้พาราควอตในภาคการเกษตรจะเป็นเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๐ อย่างไรก็ตาม มาตรา ๕๕ บัญญัติให้รัฐต้องดูแลและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ข้อ ๑๒ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ รัฐจึงควรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๐ วรรคสอง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการใช้พาราควอตในภาคการเกษตรในระยะยาวที่จะนำมาสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ  กสม. จึงเห็นควรให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๓) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๓) ดังนี้ 
            ๑. คณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ควรกำหนดให้พาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๘ โดยห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
            ๒. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดในระยะยาวโดยการจัดทำมาตรการและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการควบคุมการใช้หรือการเลิกใช้สารเคมีทุกชนิด ในภาคการเกษตรที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์บ่งบอกถึงอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาทางเลือกด้านสารชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรอย่างเป็นระบบและจริงจัง  
            ๓. คณะรัฐมนตรีควรจัดให้มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการควบคุมสารเคมีทางการเกษตร โดยพิจารณาประกอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. …. ที่จัดทำโดยคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มมติเกษตรและอาหารปลอดภัย ภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายด้านสาธารณสุขและองค์กรภาคประชาสังคม
 

10/02/2562

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน