กสม.ศยามล ร่วมการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบคิด หลักการสำคัญ และโครงสร้างการบริหารของร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. .

27/04/2567 867

 

          เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 13.30 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ให้ความเห็นในการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบคิด หลักการสำคัญ และโครงสร้างการบริหารของร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ภายใต้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 บททั่วไป ส่วนที่ 1 สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด และส่วนที่ 2 หน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการอากาศสะอาดที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ N 408 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการประชุมดังกล่าวว่า กฎหมายควรมีการออกแบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการหาวิธีการป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก ซึ่งเป็นสิทธิในเชิงกระบวนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และมติคณะมนตรีแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในสิ่งแวดล้อม โดยมีกรณีร้องเรียนมาที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ฝุ่นPM 2.5 ซึ่งมีการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า หน่วยงานของรัฐในพื้นที่จะมีการตรวจสอบการปล่อยมลพิษทางอากาศ ต่อเมื่อมีการร้องเรียนจากประชาชน ทำให้ประชาชนต้องรอคอยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มลพิษนั้นขยายตัวและมีผลกระทบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนไม่มีความรู้ในการตรวจสอบที่มาของมลพิษด้วยตนเองทำให้ไม่สามารถที่จะจัดการปัญหาได้ และหน่วยงานในพื้นที่ก็ไม่สามารถที่จะเดินหน้าจัดการปัญหาได้ ทำให้ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดความล่าช้า ทำให้ผลกระทบยิ่งขยายวงกว้าง อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับมลพิษ ก็ยังส่งผลให้ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงของปัญหา กสม. จึงเห็นว่าประชาชนในพื้นที่จำเป็นต้องมีบทบาทการเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศเบื้องต้นด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่า นักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง โดยเฝ้าระวังร่วมกับโรงเรียน หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ที่จะสามารถตรวจสารพิษที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดิน หรืออากาศได้ การมีร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... จึงควรมีการกำหนดสิทธิในเชิงกระบวนการ ได้แก่ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการการปล่อยมลพิษ การกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณในเรื่องการจัดการมลพิษทางอากาศ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการประเมินผลกระทบของการบริหารจัดการที่มีความต่อเนื่อง และที่สำคัญคือการกำหนดสิทธิเข้าถึงกระบวนยุติธรรมาทางสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนสามารถร้องเรียน หรือกล่าวโทษ และได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ควรให้ความสำคัญต่อกลุ่มเปราะบางเช่น เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือคนยากจนผู้ด้อยโอกาสในสังคม และควรได้รับความคุ้มครองมากยิ่งขึ้นตามกฎหมายนี้ เพราะหากเกิดปัญหามลพิษ กลุ่มเปราะบางจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ

เลื่อนขึ้นด้านบน