“กสม.-ไอทีดี-นิด้า” จับมือผลักดัน “รัฐวิสาหกิจต้นแบบ” นำหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาปฏิบัติ

10/12/2561 115

            วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน และประธานคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน เปิดเผยถึงการจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ” โดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (ITD) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระหว่างวันที่ ๖ – ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ ว่า การจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติฯ ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจากสาขาต่าง ๆ ทั้งพลังงาน การสื่อสาร สาธารณูปการ อุตสาหกรรม เกษตรและทรัพยากร สังคมและเทคโนโลยี และการเงิน ส่งผู้แทนเข้าร่วมการอบรมกว่า ๖๐ คน โดย กสม. และภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนามความร่วมมือด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ทั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) และคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ต่างมุ่งหวังให้ความรู้แก่รัฐวิสาหกิจไทยได้นำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
            “ภายหลังการอบรมครั้งนี้ กสม. และภาคีเครือข่ายเชื่อว่าจะมีผู้บริหารรัฐวิสาหกิจให้การยอมรับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งมีแนวทางการสร้างเครือข่ายรัฐวิสาหกิจต้นแบบของประเทศในการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามารถติดตามและประเมินผลได้อย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่ได้ยอมรับและนำคู่มือประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และรายการตรวจสอบของภาคธุรกิจ ของ กสม. ไปดำเนินการเป็นโรงแรมต้นแบบแล้ว” กสม.ประกายรัตน์ ระบุ 
            ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD กล่าวว่า ITD เล็งเห็นว่าการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะฯ ในภาครัฐวิสาหกิจเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยป้องกัน แก้ไข และบรรเทาผลกระทบอันอาจเกิดจากการประกอบธุรกิจที่ส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนในวงกว้าง ทั้งยังส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการค้าและการลงทุนในระดับประเทศและภูมิภาค และเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการค้าและการพัฒนา ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
            ขณะที่ รศ.นเรศร์ เกษะประกร คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้บันทึกความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบด้วยการให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาการละเมิดมนุษยชนโดยรัฐวิสากิจในประเทศ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนนอกดินแดนของรัฐ ตลอดทั้งการทำเวิร์คช็อปโดยนำหลักการชี้แนะฯ ไปพัฒนาเพื่อรัฐวิสาหกิจไทยเพื่อเป็นต้นแบบให้กับการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป
 

10/12/2561

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน