กสม. มีมติชี้การกักตัวเด็กที่ติดตามครอบครัวผู้แสวงหาที่พักพิงร่วมกับผู้ใหญ่ขัดต่อมาตรฐานสากล ถือเป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะรัฐบาลหาทางเลือกอื่นแทนการกักตัว

31/10/2561 1108

                วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะดูแลด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ ได้มีมติรับรองรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเด็กหญิงชาวโรฮีนจา อายุ ๑๖ ปี ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในการปราบปรามการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาในพื้นที่ภาคใต้ และถูกควบคุมตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ โดยเด็กหญิงไม่ได้ถูกจำแนกว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กระทั่งเด็กหญิงคนดังกล่าวล้มป่วยและเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ผู้ร้องจึงร้องเรียนเพื่อขอให้ กสม. ตรวจสอบการเสียชีวิต รวมถึงขั้นตอนในการดูแลรักษาพยาบาล และแนวทางในการปฏิบัติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการกักตัวผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮีนจาทั้งกรณีผู้ใหญ่และเด็ก
                กสม. พิจารณาคำร้องดังกล่าว โดยมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
                ประเด็นที่ ๑. กรณีขั้นตอนในการดูแลและการรักษาพยาบาลเด็กหญิง อายุ ๑๖ ปี ก่อนเสียชีวิต พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษ (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoner : Mandala Rules, 1995) ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยพลัน และปราศจากการเลือกปฏิบัติ กรณีดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดได้นำตัวเด็กหญิงคนดังกล่าวส่งโรงพยาบาลหลังพบว่ามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเด็กมีอาการเกล็ดเลือดต่ำและรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลประมาณ ๑๐ วัน ต่อมาได้อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลและนัดมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หลังกลับจากโรงพยาบาลประมาณ ๔ วัน เด็กหญิงมีอาการอ่อนเพลียรับประทานอาหารไม่ได้ ตรวจคนเข้าเมืองจึงนำเด็กส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง และต่อมาเด็กหญิงได้เสียชีวิตจากอาการเลือดออกในสมองโดยหลังการชันสูตรศพ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ส่งศพไปดำเนินการตามพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม กรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่าตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดได้ดำเนินการในการดูแลและรักษาพยาบาลเป็นไปตามมาตรฐานสากล ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 
                ในส่วนการรักษาพยาบาล กสม. เห็นว่าแพทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ปรากฏว่ามีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุที่ผู้เสียหายเป็นชาวโรฮีนจาแต่อย่างใด
                ประเด็นที่ ๒. การควบคุมกักขังผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮีนจา กรณีที่เป็นเด็ก กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เด็กหญิงคนดังกล่าว มีอายุ ๑๖ ปี ซึ่งถือว่าเป็นเด็กตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้นิยาม “คนเข้าเมือง” ว่า เป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้ระบุถึงสถานะความเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ไว้ และการตีความเรื่องอายุเด็กยังคงเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา จึงเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีแนวทางในการดูแลเด็กที่ติดตามครอบครัวของคนต่างด้าวที่แสวงหาที่พักพิง ดังนั้นเมื่อผู้ปกครองถูกจับกุม เด็กจึงถูกส่งตัวเข้ากักด้วย กรณีเช่นนี้จึงถือเป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ให้การรับรองไว้ว่า เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรมและด้วยความเคารพในศักดิ์ศรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะต้องถูกแยกต่างหากจากผู้ใหญ่ ดังนั้น การควบคุมกักขังเด็กที่ติดตามครอบครัวชาวโรฮีนจาเพื่อแสวงหาที่พักพิง จึงขัดต่อข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษ และยังไม่เป็นไปตามแนวทางตามข้อกำหนดของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและเยาวชนซึ่งถูกลิดรอนเสรีภาพ (United Nations Rules for the Protection of Juveniles Deprived of their Liberty) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการแยกขังหรือกักกันตัวเด็กจากผู้ต้องขังผู้ใหญ่ โดยจะต้องคำนึงถึงสิทธิของเด็กที่จะไม่แยกออกจากสมาชิกของครอบครัวด้วย กรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                ต่อกรณีดังกล่าว กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                ๑. กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรพิจารณาทางเลือกแทนการกักตัวเด็กที่ติดตามผู้ปกครองเพื่อแสวงหาที่พักพิงในระหว่างรอการส่งกลับประเทศต้นทาง หรือเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม โดยให้เด็กได้มีโอกาสอยู่ร่วมกับผู้ปกครองในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้รับการศึกษา การพัฒนาตามวัย และได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖    
                ๒. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรเร่งจัดทำบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชน กรณีการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักกันตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว
                ๓. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด ควรเร่งจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย พ.ศ. .... ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐
                ๔. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ควรพิจารณาปรับปรุงคำนิยาม “เด็ก” โดยใช้หลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ   
 

31/10/2561

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน