กสม. เผยกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่รับพนักงานสอบสวนหญิงถือเป็นการเลือกปฏิบัติ แนะรัฐบาลดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีฯ เพิ่มสัดส่วนสตรีในระบบราชการ

06/08/2561 1110

                วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดรับสมัครเข้ารับราชการตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยเปิดรับสมัครเฉพาะเพศชายจนปรากฏกระแสเรียกร้องในประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ว่า ตนมีความห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าวซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในการเข้ารับราชการตำรวจ และขัดต่อบทบัญญัติข้อ ๗ ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งระบุว่า รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกประการ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านที่เกี่ยวกับการเมืองและทั่ว ๆ ไปของประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะให้ประกันแก่สตรีภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาคกับบุรุษ ซึ่งสิทธิที่จะเข้าร่วมในการวางนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการตามนโยบายนั้น และในการรับตำแหน่งราชการและปฏิบัติหน้าที่ราชการในทุก ๆ ระดับของรัฐบาล
                นางอังคณา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมาในคราวการประชุมพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบในรอบของประเทศไทย ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงตำแหน่งต่าง ๆ ในระบบราชการไทยที่สัดส่วนของสตรียังคงมีไม่มากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานทางการเมือง และคณะกรรมการฯ ได้ตั้งคำถามว่าไทยจะมีวิธีเพิ่มเติมสัดส่วนของตัวแทนสตรีในหน่วยบริหารราชการเช่นเดียวกันกับภาคเอกชนได้อย่างไร
                ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยมีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีพนักงานสอบสวนหญิงในการสอบสวนคดีความผิดทางเพศ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่ารัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยไม่ควรปิดกั้นการเข้ารับราชการในทุกตำแหน่งด้วยเหตุแห่งเพศ และควรรับประกันการเพิ่มสัดส่วนของสตรีในกระบวนการทำงาน การมีส่วนร่วม และการตัดสินใจในทุกระดับของรัฐ ตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ เพื่อให้สตรีได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานของประเทศชาติและเพื่อสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเคารพสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานความเป็นธรรมทางเพศต่อไป
 เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


๖ สิงหาคม ๒๕๖๑

06/08/2561

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน