กสม. ห่วงการจัดชกมวยเด็ก ละเมิดสิทธิ – ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง เสนอแก้ไขกฎหมายกีฬามวย ให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

01/08/2561 1139

                วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข กล่าวถึงการจัดชกมวยเด็กว่า ตนมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังมีเด็กจำนวนมากเป็นนักกีฬามวยและต้องเดินสายขึ้นชกตามเวทีต่าง ๆ โดยที่งานวิจัยของ ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยเรื่องการบาดเจ็บของสมองในกลุ่มนักมวย ยืนยันว่า ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ประมาณ ๒ – ๓ แสนคนทั่วประเทศเข้าสู่วงการมวยไทยตั้งแต่เล็ก บางคนขึ้นเวทีชกมวยตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ ซึ่งการชกมวยตั้งแต่วัยเด็กเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บทางสมองจากการถูกชกหรือการที่ศีรษะสะบัดอย่างรวดเร็วกะทันหัน อันส่งผลต่อเนื้อสมองและระบบประสาท ซึ่งถือเป็นการบาดเจ็บภายในที่เด็กมักจะไม่รู้ตัว แต่จะส่งผลระยะยาวต่อระบบประสาท เช่น เกิดการบกพร่องทางปัญญา หรือ นำมาสู่โรคทางสมองต่าง ๆ ในภายหน้า 
                นางฉัตรสุดา ระบุว่า ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับนักมวยเด็ก เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจเนื่องจากกีฬามวยเด็กอาจซ่อนเร้นด้วยการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก ถือเป็นการใช้แรงงานและทารุณกรรมเด็ก อันขัดต่อหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ที่มีหลักการว่า เด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคมจะต้องได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้มีชีวิตรอด และต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกทำร้าย การล่วงละเมิด และการแสวงหาประโยชน์ในทุกรูปแบบ นอกจากนี้การชกมวยเด็กที่เป็นลักษณะมวยอาชีพและได้รับค่าตอบแทน ยังขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒๖ (๖) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก และ (๗) ที่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
                อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขอเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ และหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทั้งนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความคุ้มครองในชีวิตและร่างกาย และมีพัฒนาการการเติบโตที่ดีต่อไป


 เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑ สิงหาคม ๒๕๖๑

เลื่อนขึ้นด้านบน