กสม. นำเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และผลการปฏิบัติงาน ปี ๒๕๖๐ ต่อที่ประชุม สนช. ชื่นชมรัฐบาลก้าวหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์-ขับเคลื่อนหลักธุรกิจกับสิทธิฯ ห่วงโครงการพัฒนา-คำสั่ง คสช. ยังกระทบประชาชน

20/07/2561 118

          วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่รัฐสภา นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ ๔๕/๒๕๖๑ เพื่อชี้แจงรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐
          นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำเสนอภาพรวมผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ สรุปว่า นับเป็นความก้าวหน้าที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ กำหนดให้มีหมวดหน้าที่ของรัฐเพื่อเป็นหลักประกันการทำหน้าที่ของรัฐ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ดี กสม. ยังมีข้อสังเกตและห่วงใยในประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ มาตรา ๒๕ ซึ่งวางหลักในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ว่า การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น และการนั้นไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำได้ นั้น มีขอบเขตมากน้อยเพียงใด และจะมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้หรือไม่
          นอกจากนี้ ในปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา กสม. ได้รับทราบด้วยความชื่นชมว่า สมาชิก สนช. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา โดยให้เพิ่มมาตรา ๑๖๑/๑ ที่กำหนดให้การใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาต้องทำโดยสุจริต นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริต เพื่อกลั่นแกล้งจำเลยในพื้นที่ห่างไกล หรือฟ้องในข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าในการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับการปรับสถานะในรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจากระดับ ‘Tier 2 ต้องเฝ้าจับตามอง’ ขึ้นเป็นระดับ Tier 2 ด้วย  
          ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำเสนอเนื้อหารายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ สรุปความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) พบว่า รัฐบาลมีความก้าวหน้าในตรากฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองสิทธิและกลุ่มบุคคลต่าง ๆ รวมถึงมีความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองที่จะขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs) โดยมีบัญชาให้รัฐวิสาหกิจนำหลักการชี้แนะดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินกิจการด้วย  
          อย่างไรก็ดี กสม. ยังมีข้อกังวล ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพและการศึกษาของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติและผู้สูงอายุไร้สัญชาติ การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุญาตให้มีการต่ออายุนำเข้าสารเคมีการกำจัดศัตรูพืชไปอีก ๖ ปี ทั้งที่มีการคัดค้านจากหลายภาคส่วน และการดำเนินนโยบายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น นโยบายการทวงคืนผืนป่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อท้าทายสำคัญในการกำกับการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนสัญชาติไทยที่ทำให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างจริงจัง
          ขณะที่ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รัฐบาลได้จัดทำแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ โดยมีความพยายามแก้สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้เป็นผลให้สถิติความรุนแรงลดลง อย่างไรก็ดี กสม. ยังมีข้อกังวลต่อประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากในปี ๒๕๖๐ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมากที่สุด โดยที่ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนั้นยังมีประเด็นการจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการชุมนุมผ่านการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๖๐ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ ตลอดจนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายก็ยังอยู่ระหว่างการทบทวน
          ด้านนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำเสนอภาพรวมรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ สรุปว่า ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในปี ๒๕๖๐ กสม. รับเรื่องร้องเรียนจำนวน ๙๒๔ เรื่อง อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ตรวจสอบได้จำนวน ๖๒๙ เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดร้อยละ ๓๑ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมาก และในปีดังกล่าวมีเรื่องที่ตรวจสอบแล้วเสร็จ ๑,๐๐๐ กว่าเรื่อง
          นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ กสม. เสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีกรณีสำคัญ เช่น (๑) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ ส่งผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง โดย กสม. ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นที่ขอให้มีการขยายเวลาแจ้งการครอบครองอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ  (๒) การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานของประเทศไทยโดย กสม. ได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔  (๓) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ ครม. เพื่อให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการกำหนดให้กรดโฟลิกเป็นส่วนประกอบในอาหารเพื่อแก้ไขความพิการแต่กำเนิด (๔) การคุ้มครองสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง กสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอให้แก้ไขระเบียบที่กำหนดการคัดแยกประวัติของเด็กและเยาวชนออกจากการกระทำความผิดของบุคคลทั่วไป และ (๕) การปรับปรุงกฎหมายแก้ไขปัญหาเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติกับที่เอกชนทับซ้อนกัน และกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ๖๔/๒๕๕๗ และ ๖๖/๒๕๕๗
          ด้านการส่งเสริมกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน กสม. ได้ดำเนินการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การให้ความรู้เรื่องสิทธิชุมชนให้แก่เยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้และเจ้าหน้าที่รัฐ การสัมมนาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและสิทธิในความเป็นพลเมืองของรัฐไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล การสัมมนาขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs)  ในประเทศไทย การจัดเวที กสม. พบประชาชนในภูมิภาคเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมกิจกรรมสิทธิมนุษยชนร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ในปี ๒๕๖๐ กสม. ยังได้จัดทำรายงานคู่ขนานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)  
          อนึ่ง ในช่วงปี ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นช่วงที่ กสม. ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ เกิดปัญหาบางประการ เช่น การที่ กสม. ถูกปรับลดสถานะจากเอเป็นบี เนื่องจากองค์ประกอบของ กสม. และองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาไม่หลากหลายและยังไม่มีบทบัญญัติคุ้มกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของกสม. ซึ่ง กสม. ได้เสนอความเห็นในการแก้ไขประเด็นดังกล่าวไว้ที่ สนช. แล้ว ซึ่งต่อมามีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวดังที่ปรากฏใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐


เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑

 

20/07/2561

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน