กสม.ประกายรัตน์ ชี้รัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ ขณะที่ กสม. พร้อมชงข้อเสนอแนะในเชิงระบบให้ “รัฐบาล-สนช.” แก้ปัญหาอย่างเต็มที่

29/06/2561 105

                นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ตปี ๒๕๖๑ โดยประเทศไทยได้รับการปรับสถานะจากระดับ “เทียร์ ๒ ต้องเฝ้าจับตามอง” เป็นระดับ “เทียร์ ๒” ว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นผลมาจากการร่วมมือกันทำงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างจริงจังในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา จากจุดที่ต่ำสุดคือปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘ ไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่เทียร์ ๓ อยู่ ๒ ปีซ้อน ซึ่งระหว่างนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ ๒ และฉบับที่ ๓ โดยเฉพาะฉบับที่ ๓ ที่มีผลบังคับใช้ต้นปี ๒๕๖๐ มีการแก้ไขสาระสำคัญในนิยามของ “การค้ามนุษย์” ซึ่ง กสม.ได้เข้าไปมีส่วนให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะให้คำนิยามของแรงงานบังคับ
                นางประกายรัตน์ กล่าวว่า กสม. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ได้ติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลมาโดยตลอด และในฐานะที่รับผิดชอบด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ขอเรียนว่า ในปลายปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ กสม. ได้มีการตรวจสอบการค้ามนุษย์ในเรื่องสำคัญ คือ การใช้แรงงานไม่เป็นธรรมของแรงงานชาวเมียนมาในฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งกรณีดังกล่าว กสม. ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการค้ามนุษย์ ในเรื่องการยึดบัตรประจำตัวของแรงงานต่างชาติว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง สนช. ได้มีการแก้ไขให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการ “แสวงประโยชน์โดยมิชอบ”  ซึ่งถือเป็นการ “ค้ามนุษย์” ตามกฎหมายนี้
                กสม.ประกายรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ยังได้มีการแก้ไขให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของ “แรงงานขัดหนี้” และการมีเด็กอยู่ในสถานที่ที่มีการค้ามนุษย์  เจ้าของสถานประกอบการก็จะมีความผิดด้วยแม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกค้ามนุษย์ก็ตาม เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในเรื่องสิทธิการมีชีวิตที่ดีและมีการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย อย่างไรก็ตามทิปรีพอร์ตปี ๒๕๖๑ นี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยยังต้องทุ่มเทความพยายามเรื่องนี้ต่อไป ซึ่ง กสม. เห็นว่ากลไกระดับชาติที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จะต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว มีเขตอำนาจที่แข็งแรงและ
เพียงพอที่จะดำเนินการเอาผิดกับขบวนการค้ามนุษย์ที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างดี ซึ่งตรงนี้ กสม. จะได้ทำการศึกษาเจาะลึกและนำเสนอต่อรัฐบาลถึงมาตรการที่เหมาะสมต่อไป 


เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๑
 

29/06/2561

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน